1. สิ่งที่ควรทราบ 

ก่อนอื่นใด น้องๆ ทำความเข้าใจกับระบบของ TCAS กันก่อนนะ เพราะไม่เข้าใจนี่มีงงแน่นอน
สำหรับระบบ TCAS แบ่งออกเป็น 4 รอบด้วยกัน โดย 4 รอบนี้ถือเป็นการจัดประเภทของน้องๆ ที่สนใจอยากเข้าศึกษา แบ่งเป็น
  • รอบที่ 1 : รอบนี้ยื่น Portfolio หรือมีความสามารถพิเศษตามที่คณะกำหนด
  • รอบที่ 2 : เรียกว่าโควต้า ซึ่งมีทั้งโควต้าพื้นที่ และโควต้าความสามารถพิเศษ ต้องมีสอบเพิ่มเติม
  • รอบที่ 3 : หรือแอดมิชชัน  เลือกได้สูงสุด ณปัจจุบัน (2567) 10 สาขาวิชา เมื่อประกาศและจะมีให้ยืนยันหรือขอประมวลผลใหม่
  • รอบที่ 4 :  เป็นรอบรับตรงอิสระ  ซึ่งอาจจะมีหรือไม่มีก็ได้  เป็นสิทธิของมหาวิทยาลัย
โดยการสอบ TGAT / TPAT / A -LEVEL ยังมีการสอบอยู่เหมือนเดิม TGAT TPAT สอบในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี      และ A-LEVEL สอบในช่วงเดือนมีนาคมในปีถัดไป
2. ปีนี้อาจไม่เหมือนปีที่แล้ว.. 
สิ่งที่มีปัญหามากที่สุดคือ หลายคนศึกษาข้อมูลย้อนหลัง แต่ไม่ยอมอัปเดตข้อมูลใหม่ นี่เป็นข้อที่เราอยากจะเตือนต้นๆ คือ “ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ” (จนกว่าระเบียบการรับสมัครในรอบนั้นๆ จะออกมาอย่างเป็นทางการ)
ดังนั้นกำหนดการต่างๆ, คุณสมบัติ, องค์ประกอบคะแนน, รอบที่สาขานั้นเปิดรับ, เกณฑ์ขั้นต่ำ ในปีที่แล้วอาจเปลี่ยนใหม่ได้ และบางทีที่เคยประกาศเมื่อต้นปี แต่ปลายปีหรือถึงรอบรับสมัครอาจเปลี่ยนไป หรือไม่มี ไม่รับแล้วก็เป็นได้.. ดังนั้นน้องๆ จะต้องตามอัปเดตด้วยตัวเองเสมอ ก่อนจะสมัครในรอบนั้นๆ
สิ่งที่ปีที่แล้วมีไว้ สามารถดูเป็นแนวทางได้ แต่ห้ามยึดตามนั้นเด็ดขาด.. เมื่อมหาวิทยาลัยประกาศก็ต้องอัปเดตใหม่นะ

3. ค้นหาตัวตนให้เจอ 

อย่างที่ทราบกันดีว่า   การให้สิทธิ์ 1 คน : 1 ที่ เท่านั้น! เป็นการแก้ปัญหาจากปีที่ผ่านๆ มาที่รุ่นพี่เราชอบกั๊กที่นั่ง หรือจ่ายค่าเทอมที่อื่นๆ ไปก่อนแล้วมาตัดสินใจเลือกทีหลัง ทำให้หลายคนเสียสิทธิ์ไป 
มาในคราวนี้ การบริหารสิทธิจะมารอน้องๆ อยู่หลังการคัดเลือกทุกรอบ เพื่อให้น้องๆ ยืนยันสิทธิ์ว่าจะเข้าศึกษาหรือไม่ หากยืนยันสิทธิ์แล้ว ในรอบต่อๆ ไปน้องจะไม่สามารถเข้ารับการคัดเลือกได้เลย (จนกว่าจะขอสละสิทธิ์ก่อนรอบใหม่จะเกิดขึ้น หรือตามวันที่มหาวิทยาลัยกำหนด)
นั่นเป็นสาเหตุที่ว่า ทำไม “ต้องหาตัวเองให้เจอ”
เพราะว่าเวลาไม่รอใคร และเคลียริงเฮาส์ก็ไม่รอเราเช่นกัน มันเลยเป็นช่วงเวลาที่วัดใจว่า เรามั่นใจจริงๆ แล้วใช่ไหมที่จะเลือกเรียนสาขานี้ ที่มหาวิทยาลัยนี้.. แล้วเราจะไม่เสียใจทีหลัง หรือมาสละสิทธิ์ทีหลังใช่ไหม?
หากเรายืนยันสิทธิ์และมาสละสิทธิ์ทีหลัง มหาวิทยาลัยไม่เก็บที่นั่งไว้ให้นะ แล้วน้องจะย้อนกลับมาไม่ได้ด้วย..
ดังนั้นช่วงเวลาที่เหลืออีกเทอมกว่าๆ นี้ พยายามค้นหาความชอบของตัวเองให้เจอ และเลือกเส้นทางว่าจะเข้าสาขาไหน คณะไหน หรือไปทางไหนดี
แล้วถ้าไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรจริงๆ ทำยังไงดี? 
ลองมองรอบตัวเองดูก่อน ว่าตัวเองชอบทำอะไรแล้วมีความสุขที่สุด สามารถทำมันได้ดี มีความพยายามกับมัน อยู่ด้วยแล้วสนุก ไม่รู้สึกว่าอยากหนีไปเท่าไรนัก แล้วลองค่อยๆ หาสิ่งที่เข้ากับตัวเอง มีความเป็นไปได้ และมองหาสาขาวิชาที่เหมาะกับเราดูนะ
ทำไมต้องชอบสิ่งที่ตัวเองทำ.. เพราะเวลาเรียนมหาวิทยาลัยมันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ขนาดบางสิ่งที่เราชอบ มาเรียนจริงบางทีก็อยากวิ่งหนีไปให้ไกลก็ยังเคยมี อย่างน้อยการได้เรียนสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราอยากอยู่กับมัน มันก็เหมือนเป็นสิ่งที่ยังเยียวยาจิตใจหรือยื้อเราไว้ในวันที่เราอ่อนแรงได้
เพราะถ้าเรียนไปเพราะไม่ชอบจริงๆ โอกาสที่จะมาเริ่มใหม่มีสูงพอสมควรเลย..

4. การเลือกสาขาวิชาที่เหมาะกับตัวเอง 

จากข้อเมื่อกี้ หลายคนสงสัยว่า แล้วจะรู้ได้ไงว่าสาขาไหนจะเหมาะกับเราล่ะ?..
เดี่ยวนี้หลายเว็บไซต์มีแบบทดสอบค้นหาตัวเอง (ทปอ. ยังมีเลย) ลองกดเข้าไปทำดูก่อน ตอบตามความชอบจริงๆ แล้วมันจะแสดงสาขาวิชา หรือด้านที่เราถนัด แล้วค่อยมาดูว่ามีสาขาวิชาไหน หรือมหาวิทยาลัยอะไรที่ตรงใจกับเราบ้าง..
สิ่งที่อยากจะเตือนไว้คือ ให้น้องๆ “ดูชื่อสาขาวิชาเป็นหลัก” เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยบางทีสาขาที่อยากเรียนก็ไม่ได้จำเป็นจะอยู่คณะเหมือนกับมหาวิทยาลัยอื่น หรือ บางทีชื่อสาขาวิชาก็ไม่ได้บอกทุกอย่าง แต่ต้องมานั่งดูหลักสูตร หรือรายละเอียดการเรียนจากเว็บคณะ ถึงจะรู้ว่า อ๋อ.. ชื่อมันดูแปลกๆ แต่นี่แหละสาขาวิชาของเรา (ดูจาก มศว เป็นตัวอย่างได้)
การดูหลักสูตรถือเป็นสิ่งหนึ่งที่แนะนำให้ทำ เพราะเราจะทราบเลยว่าจะต้องเรียนอะไรบ้าง เรียนอย่างไร และพอจะเดาอนาคตได้ว่าน่าจะสนุก หรือน่าจะไม่ไหว (ชื่อสาขาวิชาเดียวกัน แต่ถ้าอยู่คนละมหาวิทยาลัยก็เรียนต่างกันนะ)
ถ้าเกิดว่ายังรู้สึกยังทำความรู้จักกับสาขาวิชานั้นไม่เพียงพอ.. ก็ไปงานเปิดบ้านของคณะ หรือมหาวิทยาลัยได้เลย แล้วถ้าโชคดีบางสาขาวิชามีเข้าค่ายด้วย! การที่ไปสัมผัสสถานที่จริง ของจริง ได้ถามรุ่นพี่จริงๆ มันก็จะทำให้เห็นภาพมากขึ้นกว่าเดิม และทำให้เรามีแรงบันดาลใจมากขึ้นกว่าเดิมด้วยเช่นกัน!
หรืออาจจะไปดูตามงานตลาดนัดหลักสูตร / งาน Education Fair, Expo ของเว็บไซต์การศึกษาต่างๆ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าสนใจ

5. เป็นคนรักการอ่าน 

ในที่นี่เราไม่ได้หมายความว่าน้องต้องอ่านหนังสืออย่างเอาเป็นเอาตายแต่อย่างไร (แบ่งเวลาให้ได้ก็พอ ว่าเวลาไหนควรเล่น เวลาไหนควรอ่านหนังสือ เวลาไหนเอาไว้อ่านจอยหรือปั่นวิว..)
แต่มันสัมพันธ์กับข้อ 2 ที่ว่า อยากให้น้องๆ ได้อ่านระเบียบการรับสมัครให้ดีให้ถี่ถ้วน!
โปรดรักการอ่านระเบียบการเถอะน้องๆ.. หลายสิ่งหลายอย่างมันมีในระเบียบการอยู่แล้ว ขอเพียงแค่น้องอ่านมันเท่านั้น อ่านแล้วทำความเข้าใจ อย่าอ่านผ่านๆ หรือให้เพื่อนดูให้แล้วเชื่อเพื่อนเต็มร้อย..
เพราะตัวอย่างที่พลาดและรอยนำ้ตามีให้เห็นบ่อยครั้งมากเลยทีเดียว
สำหรับใครที่ติดตามข่าวสารที่สรุปผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันต่างๆ น้องๆ สามารถติดตามได้ไม่มีปัญหานะ แต่ก่อนจะสมัครในแต่ละรอบให้ตรวจสอบระเบียบการจากทางมหาวิทยาลัยอีกครั้ง เพราะบางครั้งมหาวิทยาลัยอาจมีการอัปเดตข้อมูลแต่เว็บต่างๆ ยังไม่อัปเดต หรือเขียนผิดก็มีเช่นกัน

6. ตัวเลขอย่าสับสน

หลายคนชอบสับสนเรื่องปีการศึกษา ว่าตกลงอะไรยังไงกันแน่   เราจะเข้ามหาวิทยาลัยในปีการศึกษาถัดไป ของปีที่อยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6    เช่น  เราอยู่ชั้น ม.6  ปีการศึกษา 2567   เราจะต้องสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในระเบียบของปีการศึกษา 2568  

7. วางแผนอนาคต 

หลังจากที่เรารู้แล้วว่าเราอยากเข้าสาขาวิชาไหน คณะไหน ลองไปส่องระเบียบการปีที่แล้วหน่อยว่ารับรอบไหน ใช่คะแนนอะไรบ้าง แล้วมาวางแผนเตรียมตัวกัน..
โดยปกติแล้วแผนการรับนิสิตใหม่   แต่ละมหาวิทยาลัยจะประกาศหลังจากมหาวิทยาลัยเปิดเทอมไปแล้ว (ประมาณปลายสิงหาคม – ปลายกันยายน) และจะเริ่มรับสมัครรอบแรกในเดือนตุลาคม 
ดังนั้นระหว่างรอ ก็ต้องเตรียมพร้อมโดยดูจากระเบียบการเก่าไปพลางๆ ก่อน.. 

สำหรับคนที่อยากเข้ารอบ Portfolio

ให้ไปค้นมาเลยว่าตลอด 3 ปีใน ม.ปลายนั้นตัวเองทำกิจกรรมอะไรมาบ้าง แล้วมาจัดหมวดหมู่ จัดประเภท ว่าแบ่งได้อย่างไรบ้าง ไปตามหารูปมา เรียงวันที่ เดือน ปี ให้รู้ว่าคือกิจกรรมอะไร ก่อนและหลัง ให้เรียบร้อยก่อน.. ใครที่ไม่มีก็ใช้เวลาทีเ่หลือให้คุ้มค่า หากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาทำไป เพื่อให้อาจารย์มองเห็นความสนใจของเราว่าเราสนใจด้านนี้จริงๆ นะ
หาและเก็บรวบรวมให้ดีก่อน.. แบบสามารถหยิบหรือเอาออกมาใช้แบบง่ายๆ ไม่ต้องตามหาวุ่นวาย แต่ยังไม่ต้องเริ่มทำหรือรีบทำนะ
เพราะเราต้องรอระเบียบการรอบ Portfolio ก่อนว่าต้องทำขนาดไหน มีส่วนอะไรที่ต้องทำบ้าง ตอนนั้นค่อยมาเริ่มทำ.. (หากทำไปก่อนอาจจะต้องเสียเวลามานั่งหรือรื้อแก้ใหม่ได้)
สำหรับคนที่ไม่เก่งด้านกิจกรรมก็อย่านอยด์ไป เพราะมันก็มีการรับ Port ในรูปแบบเด็กเรียนอยู่ (เช่นด้านโอลิมปิกวิชาการ มีคะแนนสอบภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ตามที่กำหนดงี้) ถ้าเป็นการเรียนในส่วนนี้จะไม่เน้นกิจกรรม แต่จะเน้นความรู้และความเก่งมากกว่า..
เดี๋ยวตอนถึงรอบพอร์ตเราจะมาคุยกันในการเตรียมการทำพอร์ตอีกทีนะ 

สำหรับคนที่จะเข้าในรอบ 2 ที่มีการสอบข้อเขียน

หากย้อนไปในข้อ 1 เราจะรู้แล้วว่า การสอบในระบบ TCAS นี้เป็นการสอบที่สอบติดกัน สัปดาห์ต่อสัปดาห์เลยทีเดียว.. เสาร์-อาทิตย์แทบไม่ได้พักผ่อน (คือถ้าเมนเราคัมแบคช่วงนั้นหรือมีทัวร์คอนเสิร์ตนี่ตัดใจไปได้เลย..)
ดังนั้นการที่จะคิดว่าจะอ่านก่อนสอบนี่ตัดทิ้งไปได้เลย..
การวางแผนการอ่านหนังสือคือสิ่งที่สำคัญสุด จัดตารางหรือจัดการตัวเองให้ดีว่าเราจะอ่านหนังสืออย่างไรให้หมดทันเวลา และมีเวลาทบทวนก่อนสอบสักนิดหน่อยก็ยังดี
มีบางเว็บไซต์ทำแผนการอ่านหนังสือออกมา ก็ลองนำแผนนั้นมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับเราด้วยล่ะ หรือถ้าไม่มีก็ลองสอบถามรุ่นพี่อ่านจัดการกับการอ่านยังไงถึงอ่านหมดและอ่านทันเวลา
ที่สำคัญอย่าหักโหมจนเกินพอดีล่ะ เป็นห่วงนะ..

8. หาแรงบันดาลใจไว้เป็นเพื่อน 

สิ่งหนึ่งที่แนะนำอยากให้ทุกคนได้มีกันคือ การหาแรงบันดาลใจไว้เพื่อเวลาเราท้อ เหนื่อย เราจะได้นำแรงบันดาลใจนี้ช่วยทำให้เรามีพลังอีกครั้งหนึ่ง
แรงบันดาลใจนี้มาจากไหนได้บ้าง? เยอะไปหมดนะ มีหลายวิธีด้วย ไม่ว่าจะเป็น
  • เขียนให้กำลังใจตัวเอง ติดไว้ตรงที่อ่านหนังสือ หรือตรงประตูห้อง ว่าอยากเข้าที่นี่ให้ได้ (แต่มันก็แอบสร้างแรงกดดันนิดๆ เลือกใช้คำที่อ่านแล้วไม่กดดันตัวเองเกินไปด้วยล่ะ)
  • ติดรูปรุ่นพี่ที่เราชอบ.. หันมองทีไรก็บอกกับตัวเองว่าเราจะไปเรียนที่เดียวกับพี่ให้ได้เลย!
  • ติดรูปไอดอล / ศิลปินที่เราชอบ.. เวลาอ่านเหนื่อย แล้วหันไปมองรูปที่เค้ายิ้มแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว
  • ฟังเพลงเปิดคลิปของมหาวิทยาลัยที่อยากเข้า
เป็นต้น.. แต่ละคนก็อาจจะมีวิธีที่ต่างกันออกไป และอย่าลืมหาเพื่อสักคนที่รับฟังเราด้วยนะ เมาท์มอยหอยกาบไปด้วยกัน ค่อยๆ เติมพลังไปด้วยกันด้วย

8. สำหรับผู้ปกครอง

สำหรับผู้ปกครองที่อ่านมาถึงตรงนี้ คงน่าจะพอทราบถึงความทรหดที่ลูกของท่านจะต้องเจอในปีการศึกษาหน้าแล้ว สิ่งที่ที่เราอยากบอกให้รับทราบคือระบบนี้โดยโครงหลักหลายรอบและการสอบจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่อาจจะมีการเปลี่ยนในเรื่องของระยะเวลาหรือบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ระบบนี้มีดียิ่งขึ้น (จากปีนี้ที่มีปัญหาพอสมควร)
โดยตัวโครงสร้างแล้วระบบ TCAS ออกแบบมาเพื่อให้บุตรหลานของผู้ปกครองได้เลือกในรอบที่ดีและเหมาะสมกับตัวเองที่สุด แต่ทั้งนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปีที่ผ่านมามีปัญหาต่างๆ มากพอสมควร.. (และหวังว่าในปีหน้านี้ผู้ใหญ่จะรับฟังแล้วปรับปรุงในส่วนที่มีปัญหาไม่มากก็น้อย)
ทั้งนี้เราไม่สามารถเปลี่ยนอะไรได้ แต่อยากให้ผู้ปกครองยอมรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ว่าบุตรหลานของท่านนั้นเหนื่อยแน่ๆ
สิ่งแรกที่อยากจะฝากผู้ปกครองคือเรื่องค่าใช้จ่าย (เรื่องใหญ่สุดเลย)
  • สำหรับค่าใช้จ่ายในการสมัครรอบที่ 1-2 นั้น มหาวิทยาลัยเป็นผู้คิดค่าใช้จ่าย ดังนั้นค่าสมัครในแต่ละมหาวิทยาลัยจะต่างกัน
  • ในส่วนรอบที่ 3 นั้นจะจ่ายต่ำสุดคือ 300 บาท และสูงสุดคือ 900 บาท (อยู่ที่ว่าน้องเลือกกี่สาขาวิชา) แต่อาจมีการลดลงหรือเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ยังไม่รวมค่าเดินทาง ค่าที่พักที่เดินทางไปสอบ หรือสอบสัมภาษณ์อีก และบางมหาวิทยาลัยเวลารายงานตัวก็จะให้จ่ายค่าเทอมเลย ซึ่งในส่วนนี้ผู้ปกครองหรือน้องๆ อาจจะต้องตกลงกันและคุยกันให้ดี
สำหรับผู้ปกครองที่มีความเห็นไม่ตรงกับลูกของท่านในเรื่องอนาคต ไม่ว่าจะเรื่องสาขาวิชา หรือมหาวิทยาลัยที่ท่านหวัง
ในประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ลำบากใจที่สุดเวลาน้องๆ มาถาม.. หลายคนร้องไห้ หลายคนทำไม่ได้.. เราเชื่อว่าท่านหวังดีอยากให้ลูกท่านได้เรียนในสาขาที่ดี มีอนาคตดีๆ จบมาแล้วสบาย..
แต่เราอยากให้ท่านได้รับฟังเหตุผลของน้องๆ เชื่อว่าน้องๆ มีเหตุผลที่เลือกเส้นทางนั้น.. อีกทั้งในอนาคตสามารถหางานและประกอบอาชีพได้แน่นอน อีกทั้งในปัจจุบันมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายในแต่ละวัน สร้างรายได้มากมาย และศาสตร์ที่น้องๆ เรียนนั้นก็ลงลึกไปทุกวัน เรียนเท่าไรก็เรียกว่าไม่มีวันหมด
น้องๆ นั้นเป็นผู้เรียนและผจญกับความยากลำบากเหล่านั้นด้วยตนเอง การเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบ ถึงจะพยายามยังไงก็อาจทำได้มีดีพอ.. แต่หากท่านได้มองและให้โอกาสกับน้องๆ ให้สิ่งที่น้องชอบ ทำได้ดี มันจะส่งผลให้งานต่างๆ ของน้องออกมาได้ยอมเยี่ยมเช่นกัน
แต่ทั้งนี้ น้องๆ ก็ต้องสัญญากับตัวเองและมั่นใจกับตัวเองด้วยว่า หากผู้ปกครองให้โอกาสแล้วเราก็จะทำมันให้เต็มที่และดีที่สุดนะ
แต่หากการเจรจาไม่สำเร็จ ก็อย่าลืมให้กำลังใจเขา อยู่ข้างๆ เขา และรับฟังเขานะครับ เพราะเขาต้องสู้กับอนาคตอีกไกลพอสมควรเลย
สำหรับเรื่องที่เรียน ปกติถ้าน้องจบ ม.6 นี่ก็มีทีเรียนไปเกือบหมดแล้ว..
แต่ในระบบ TCAS นี่แตกต่างจากทุกปีที่ผ่านมา เพราะคนที่จะทราบว่าตัวเองมีที่เรียนหลังจบม.6 คือคนที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรกแล้วเท่านั้น (คือรอบ Portfolio)
อีก 2-3รอบที่เหลือยังต้องรอคอยการสอบวิชาต่างๆ ที่จะมาหลังจบ ม.6 และต้องยื่นคะแนนต่างๆ ซึ่งกว่าจะทราบผลมหาวิทยาลัยจริงๆ ก็จะเป็นในช่วงปลายเดือนมิถุนายนเลย (เหมือนกับรุ่นพี่ตอนนี้ที่เกือบแสนคนยังไม่ทราบที่เรียนเช่นกัน)..
ดังนั้นการที่น้องๆ ยังไม่ติดหรือไม่มีมหาวิทยาลัยหลังจบ ม.6 จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก.. ยังไงอย่าเพิ่งกดดันน้องๆ มากนะครับ เพราะน้องๆ ก็กดดันไม่ต่างกันและอยากมีที่เรียนไวๆ เช่นกัน

ก่อนจะจบอยากฝากกับผู้ปกครองทุกท่านที่กำลังอ่านอยู่นี้นั้น หลังจากนี้น้องๆ จะเหนื่อยมาก ทางพวกเราก็อยากให้ผู้ปกครองเข้าใจน้องๆ ว่าในปัจจุบันการเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ง่ายเลยทีเดียว ต้องผ่านอะไรมามากมาย
สิ่งหนึ่งที่จะทำให้น้องๆ สู้ต่อไปได้คือ เป็นกำลังใจ จนกว่าน้องๆ จะสอบเข้าได้สำเร็จ..
กำลังใจสำคัญมากนะครับ ไม่อยากให้กดดันมากจนเกินไป เพราะเชื่อว่าน้องๆ ก็พยายามอย่างเต็มที่เพื่อติดในมหาวิทยาลัยที่ชอบหรือที่หวังไว้ เมื่อถึงวันที่ทำได้เขาจะมาอวดท่านอย่างภูมิใจเลยล่ะ!
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม พวกเราเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคน ขอให้ทุกคนก้าวตามความฝันได้สำเร็จนะครับ! 🙂

ขอขอบคุณ   บทความ จาก    พี่มศว.พาน้องสอบ  และปรับปรุงโดยdekkeen