แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 5.4 แม็กนิจูด ในเมืองโพฮัง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเกาหลีใต้ ในวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงเป็นอันดับ 2 ที่เคยเกิดขึ้นในแดนโสมขาว ทำให้ทางการเกาหลีใต้ตัดสินใจเลื่อนการสอบแอดมิสชั่นประจำปี หรือที่เรียกว่า “การสอบกำหนดชะตาชีวิต” จากวันที่ 16 พ.ย. ออกไปอีกหนึ่งสัปดาห์ เพื่อความปลอดภัย และเพื่อความยุติธรรมของผู้เข้าสอบทุกคน
อย่างไรก็ตาม การยืดเวลาตัดสินอนาคตของเด็ก ๆ ออกไป ดูท่าจะไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีนัก เด็ก ๆ หลายคนอยู่ในภาวะเครียด เพราะความกดดันจะดำเนินต่อไปอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ขณะที่พวกเขาเตรียมตัวสำหรับสนามสอบล่วงหน้าเป็นปี ๆ
เกาหลีใต้ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการแข่งขันการสอบเข้ามหาวิทยาลัยสูงมาก เพราะนั่นหมายถึงการการันตีว่าจะได้งานที่ดีทำ หากเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ งานในเครือบริษัท “แชโบล” เช่น ซัมซุง ฮุนได หรือล็อตเต้ ก็ไม่ไกลเกินฝัน
สำหรับ 3 มหาวิทยาลัยระดับท็อปของเกาหลีใต้ คือ Seoul National University, Korea University และ Yonsei University
ความจริงจังในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนเกาหลีใต้นั้น ผู้ปกครองและนักเรียนบางคนอาจเตรียมตัวถึง 3 ปี คือ เริ่มตั้งแต่เกรด 10 หลังการเรียน 10 ชั่วโมงในโรงเรียนแล้ว อาจมีการพักทานอาหารเย็น และหลังจากนั้นจะอ่านหนังสือยาวจนดึกดื่น หรือเรียนพิเศษ กวดวิชาต่อจนถึงเที่ยงคืน
การสอบในทุกปีมีความสำคัญมาก แม้ว่าวันที่จัดสอบจะเปลี่ยนไปทุกปี แต่ที่ไม่เคยเปลี่ยนไป คือ การที่ตลาดหลักทรัพย์จะต้องเปิดสายกว่าปกติ เพื่อไม่ให้เกิดการขัดขวางการจราจรของนักเรียน เครื่องบินถูกห้ามบินขึ้น-ลงระหว่างการทดสอบการฟังภาษาอังกฤษ และหากเด็กนักเรียนคนไหนดูท่าจะไปสอบไม่ทัน ตำรวจมีหน้าที่อำนวยความสะดวก พานักเรียนไปส่งสถานที่สอบให้ทันเวลาให้ได้
ขณะที่นักเรียนสอบ ที่วัดหรือโบสถ์จะเต็มไปด้วยผู้ปกครองจำนวนมากเข้าไปสวดมนต์ หรือสวดภาวนา ให้ลูกหลานสามารถทำข้อสอบได้ลุล่วง
ระบบการสอบที่เข้มข้นของดินแดนโสมขาว เริ่มต้นมาตั้งแต่ราวปี 1950s ในช่วงที่ประเทศสั่นคลอนทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง ผู้ปกครองมองเห็นว่า หากต้องการให้บุตรหลานมีอนาคตที่สดใส จะต้องเริ่มต้นจากการศึกษาที่แข็งแรง ขณะเดียวกันรัฐบาลก็ส่งเสริมให้การศึกษาขยายโอกาสอย่างเท่าเทียมกันทั่วประเทศ ทำให้ภายหลังจากเป็นอิสระจากการปกครองของญี่ปุ่นราว 50 ปี นักเรียน 90% ของเกาหลีใต้นั้นจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย
อย่างไรก็ตาม การมุ่งสู่ปลายทางมหาวิทยาลัยอันดับท็อปของประเทศนั้นมีค่าใช้จ่ายไม่น้อย ผลสำรวจของรัฐบาลกรุงโซลในปี 2014 พบว่า ผู้ปกครองลงทุนด้านการศึกษาเอกชนไปมากถึง 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว (OECD) อื่น ๆ ถึง 3 เท่า ขณะที่ผลสำรวจความสุขของเด็กนักเรียนในปีเดียวปรากฏว่า เกาหลีใต้รั้งท้ายในกลุ่มประเทศ OECD
ประชาชาติธุรกิจ