95.18%เห็นด้วยฟื้นเรียนซ้ำชั้น วางแผนเริ่มซ้ำชั้น ปี เม.ย.-พ.ค.2560



ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้รายงานความคืบหน้าแนวทางการเรียนซ้ำชั้น หลังจากที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปคิดแนวทางดำเนินงาน โดยข้อเสนอของ สพฐ.คือ ให้ซ้ำชั้น ป.3, ป.6 และ ม.3 ได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องถึงการตกซ้ำชั้นแนวใหม่ ที่จะให้ซ้ำชั้น ป.3, ป.6 และ ม.3 มีการให้เรียนซ้ำเป็นรายวิชา หรือซ้ำชั้นในกรณีไม่ผ่านรายวิชาเกินครึ่งหนึ่งของวิชาที่เรียน

ซึ่งจากการลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในภูมิภาคต่าง ๆ อาทิ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ ครู นักจิตวิทยา และผู้แทนผู้ปกครอง ถึง 3 ครั้ง พบว่าในภาพรวมของประเทศเห็นด้วยเรื่องการให้เด็กเรียนซ้ำชั้น ถึงร้อยละ 95.18 และมีข้อสังเกตเรื่องการกระทบจิตใจ ร้อยละ 4.82
ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า หลังรับฟังรายงานแล้ว รมว.ศึกษาธิการ ย้ำว่าในการให้เรียนซ้ำชั้นควรมี 3 ขั้นตอน คือ 1.ตรวจสอบให้แน่นอนว่าเด็กเรียนอ่อน มีปัญหาคุณภาพจริงๆ 2.ให้ใช้วิธีการเพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้องก่อน ครูและผู้บริหารต้องร่วมกันดูแลสอนซ่อมเสริมให้แก่เด็ก และ 3.ต้องสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครองให้รับรู้ถึงศักยภาพในการเรียนของลูกหลานตนเอง พร้อมทั้งให้โจทย์ สพฐ.มาคิดต่อว่าหากเด็กต้องเรียนซ้ำชั้นจะดูแลอย่างไร และคงต้องมาดูอีกครั้งว่าควรจะให้ซ้ำที่ชั้นไหนจึงจะเหมาะสมที่สุด เช่น อาจจะเป็นซ้ำชั้น ป.2 ป.5 หรือ ม.2 เป็นต้น
"ขณะนี้นักเรียนกำลังเรียนในภาคเรียนที่ 2/2559 ดังนั้น จะต้องมีกระบวนการในภาคเรียนที่ 2นี้ว่า สถานศึกษาต้องใช้มาตรการต่าง ๆ ร่วมกันดูแลนักเรียนอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้เด็กต้องซ้ำชั้น และวางแผนต่อด้วยว่า ในเดือน มี.ค.2560 หากเด็กต้องซ้ำชั้นจริงๆ เดือน เม.ย.-พ.ค.2560 ช่วงปิดภาคเรียนควรดำเนินการอย่างไรกับเด็กที่ต้องซ้ำชั้น"ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าว