เปิดห้องเรียน "วิศวกรรมขนส่งทางราง" แห่งแรกในไทย


       เปิดห้องเรียน ”วิศวกรรมขนส่งทางราง”สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล). หลักสูตรใหม่แห่งแรกของไทย ดันนักศึกษารุ่นแรก 49 คนศึกษาทฤษฏีพร้อมภาคปฏิบัติจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมขนส่งทางรางทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าใน ปี 2562 สามารถผลิตบุคลากร “วิศวกรระบบราง”
       

 
ห้องเรียน ”วิศวกรรมขนส่งทางราง”สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล).
       ดร.ณัฐวุฒิ หลิ่วพิริยะวงศ์ ประธานหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง สจล.กล่าวว่า การสร้างหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. มาจากการระดมผู้เชี่ยวชาญทั้งในประเทศและต่างประเทศ และได้พัฒนารายวิชาแม่แบบของวิศวกรรมขนส่งทางรางขึ้นมาโดยหลอมรวมสหวิทยาการทางวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งวิศวกรรมเครื่องกล-ไฟฟ้า-คอนโทรลและโยธา เน้นการสอนให้ความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติจากอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมขนส่งทางรางทั้งในประเทและต่างประเทศ โดยเบื้องต้นได้เชิญนักวิชาการด้านระบบขนส่งทางรางจากสหรัฐฯ มาสอน
      
       “หลักสูตรการเรียนการสอนในสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่งทางราง โดยนักศึกษาจะได้ศึกษาตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางราง องค์ประกอบและการออกแบบระบบรางรถไฟ การตัดทางรถไฟ การซ่อมบำรุงรถไฟ หน้าที่และการทำงานของระบบต่างๆของรถไฟการวิเคราะห์แรงต้านและการใช้พลังงานของรถไฟ การสร้างและซ่อมบำรุงรางรถไฟการควบคุมการจราจรของรถไฟและระบบการส่งสัญญาณ หรือที่เรียกว่า ระบบอาณัติสัญญาณ (RAIL SIGNALING)การวางแผนงานระบบขนส่งทางราง ซึ่งใช้องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการและเศรษฐศาสตร์ด้วย การวิเคราะห์ความปลอดภัยของการเดินรถไฟและรางรถไฟ การคาดคะเนการสึกหรอของระบบรถไฟและรางรถไฟ เพื่อให้สามารถซ่อมบำรุงระบบได้ก่อนที่จะเกิดอุบัติเหตุขึ้น การวิเคราะห์ปัญหาทางวิศวกรรมขนส่งทางราง รวมไปถึงระบบรถไฟความเร็วสูงที่กำลังมีการเร่งพัฒนากันอย่างมากด้วย 
      
       ซึ่งองค์ความรู้ต่างๆเหล่านี้ จะใช้พื้นฐานวิศวกรรมหลายแขนง อาทิ ด้านวิศวกรรมเครื่องกล จะนำไปใช้ในส่วนของระบบการเคลื่อนที่ของรถไฟวิศวกรรมไฟฟ้า นำไปใช้ในการพัฒนาการควบคุมการเดินรถ วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตและพัฒนาเครื่องจักร เครื่องซ่อมบำรุง และวิศวกรรมโยธา เพื่อการออกแบบวางผังเมืองและเส้นทางเดินรถไฟ ฯลฯ”
 
ตัวแทนนักศึกษารุ่นแรกประจำหลักสูตร "วิศวกรรมขนส่งทางราง"
       ทั้งนี้ หลักสูตรได้แบ่งเป็นการเรียนระดับขั้นพื้นฐานทางวิศวกรรมในช่วง 2 ปีการศึกษาแรก และในอีก 32 ปีการศึกษาถัดไปจะเน้นเนื้อหาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางรางโดยตรง นอกจากเนื้อหาทางด้านทฤษฎีต่างๆแล้ว โครงสร้างหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง ของ สจล. ยังเน้นให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ในห้องเรียนมาเชื่อมโยงกับภาคปฏิบัติ สามารถคิดวิเคราะห์และนำความรู้มาประยุกต์เพื่อการปฏิบัติงานจริงได้ โดยมีวิชาที่ต้องทำการทดลองและปฏิบัติจริงในห้องทดลองเป็นจำนวนกว่า 13 วิชา หรือคิดเป็น 25% ของเนื้อหาวิชาเรียนทั้งหมดในหลักสูตรนี้ 
      
       ดร.ณัฐวุฒิ ประธานหลักสูตรฯ กล่าวต่อว่า สจล.ได้เปรียบมากกว่าสถาบันอื่นที่ เพราะมีรถไฟตัดผ่านกลางสถาบันและมีสถานีรถไฟภายในสถาบันถึง 2 สถานี ซึ่งทำให้นักศึกษาได้เห็นถึงการปฏิบัติงานภาคสนามของจริง สามารถเรียนรู้ได้ในสถานที่จริง ได้เห็นรูปแบบของปัญหาและการแก้ไขปัญหาจริง
      
       “เราเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีโอกาสเข้าร่วมสัมมนาด้านรถไฟ การตรวจสอบคุณภาพและการซ่อมบำรุงรางรถไฟ ฯลฯ ซึ่งต้องมีการสอนเนื้อหาในห้องเรียนก่อนเพื่อให้รู้ถึงองค์ประกอบและส่วนต่างๆเกี่ยวกับรางรถไฟ รวมไปถึงสอนให้รู้จักกับอุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการตรวจสอบและซ่อมบำรุงรางรถไฟด้วย และสามารถนำอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนภาคปฏิบัติมาสาธิตให้เห็นถึงวิธีการใช้งาน พร้อมกับให้นักศึกษาได้ทดลองใช้อุปกรณ์นั้นๆ ในห้องปฏิบัติการหรือห้องทดลอง และพานักศึกษาไปลงพื้นที่ที่รางรถไฟ ซึ่งอยู่ภายในสถาบัน โดยตัวอย่างอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนวิชานี้ เช่น “Phased Array Ultrasonic”ซึ่งการเรียนด้วยเครื่องนี้จะต้องเรียนรู้ถึงวิธีการและกระบวนการในการทดสอบ รวมไปถึงจะต้องศึกษาถึงวิธีการอ่านผลและค่าทางตัวเลข พร้อมกับนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์และประมวลผลทางเทคนิคอื่นๆ ด้วย"
      
       ดร.ณัฐวุฒิ กล่าวทิ้งท้ายว่า สจล มั่นใจว่า บัณฑิต วิศวกรรมขนส่งทางรางเมื่อที่จบออกไปสามารถปฏิบัติงานได้ทันที สามารถประกอบอาชีพที่ท้าทายและเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมและบริการขนส่งทางรางในปัจจุบันและอนาคต ได้แก่ วิศวกร นักวิจัย หรือ อาจารย์ ในสาขาวิศวกรรมขนส่งทางราง เช่น วิศวกรรถไฟฟ้า วิศวกรรถไฟความเร็วสูง และวิศวกรรถไฟดีเซล รวมทั้งยังสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ และอาชีพอิสระอื่นๆ ในอุตสาหกรรมวิศวกรรมขนส่งทางรางของประเทศไทย ประเทศในภูมิภาคอาเซียน และทั่วโลก
      
       นอกจากนี้ เส้นทางสู่อาชีพวิศวกรระบบขนส่งทางรางหรือวิศวกรรถไฟฟ้านั้นสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมของประเทศไทยและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยประเทศไทยมีการลงทุน 2 ล้านล้านบาท ในการสร้างโครงข่ายคมนาคมที่เชื่อมโยงภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมประเทศไทยไปสู่การคมนาคมที่มีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยผลสำรวจพบว่าในปี 2558 ความต้องการบุคลากรด้านวิศวกรรมขนส่งทางรางในประเทศไทยมีมากกว่า 2,000 คน
      
       ทั้งนี้ หลังจากที่ สจล. เตรียมพร้อมด้านหลักสูตร “วิศวกรรมขนส่งทางราง” คณะวิศวกรรมศาสตร์ไว้อย่างเข้มข้นแล้ว จึงพร้อมเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกจากการคัดกรองนักเรียนมัธยมศึกษาระดับหัวกะทิกว่า 2,000 คน เหลือเพียง 49 คน
 
“ไนท์” นพณัฐ ตีระพงศ์ไพบูลย์
       “ไนท์” นพณัฐ ตีระพงศ์ไพบูลย์ นักศึกษาชั้นปี 1 ในหลักสูตร “วิศวกรรมขนส่งทางราง” เผยความรู้สึกที่ได้มีโอกาสเข้าศึกษาต่อคณะในฝันพร้อมกับหลักสูตรวิชาที่ตนชื่นชอบ “ส่วนตัวอยากเรียนที่ลาดกระบังอยู่แล้ว พอได้มีโอกาสเข้ามาศึกษาต่อที่นี้ ก็เลือกสาขาวิชาที่ชอบ โดยเฉพาะหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งทางราง ถือว่าเป็นสาขาวิชาใหม่แกะกล่อง ยิ่งเป็นนักศึกษารุ่นแรกยิ่งรู้สึกท้าทาย ถึงแม้จะไม่มีรุ่นพี่ให้คำปรึกษา แต่ผมก็มั่นใจว่า อาจารย์ผู้สอนสามารถให้ความรู้ที่เข้าใจง่าย”
       

       ไนท์ บอกอีกว่า ตอนเด็กชอบนั่งรถไฟ เพราะมีญาติอยู่ใต้ ต้องรถไฟเป็นประจำ พอมีโอกาสได้มาเรียนที่นี้ ถือว่าโชคดีสองชั้นที่ได้มาเรียนสถาบันในฝัน แถมยังสามารถนั่งรถไฟมาเรียนได้ "ทุกๆ วันผมนั่งรถไฟจากหัวลำโพง มาลงที่สถานีลาดกระบังทุกวัน มันทำให้เราชอบและสนุก ยิ่งได้เรียนอะไรที่เราชอบแล้ว ทำให้เราสนุกที่จะเรียนรู้ ก็เคยสงสัยว่า ทำไมรถไฟมันเลี้ยวได้ ทำไมถึงรางรถไฟถึงรับน้ำหนักรถไฟได้มากขนาดนั้น ผมคิดว่า การเรียนหลักสูตรนี้จะช่วยหาคำตอบได้ และอาจจะได้ความรู้อะไรใหม่ๆ ได้มากกว่านี้อีกด้วย อนาคตผมอยากที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาการขนส่งระบบรางของประเทศไทยให้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ”
       

 
“มินท์” นางสาวชนิการต์ จึงเจริญนรสุข และ “แพรว” นางสาวพิมพกานต์ อนุวงศ์กุล
       เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมหลักสูตร อย่าง “มินท์” นางสาวชนิการต์ จึงเจริญนรสุข และ “แพรว” นางสาวพิมพกานต์ อนุวงศ์กุล สองสาววิศวกรรมขนส่งทางราง มินท์ เอ่ยก่อนว่า เป็นครั้งที่นั่งรถไฟมาเรียน รู้สึกชอบ ก่อนที่นี้เปิดเว็บไซต์ดูว่า มหาวิทยาลัยไหนเปิดสอนสาขาวิชาเกี่ยวกับการขนส่งระบบราง แต่ก็ยังไม่มีที่ไหนเปิด เพราะส่วนใหญ่เป็นวิชาเลือกของคณะวิศวฯ สาขาวิชาช่างกล ที่จะมีวิชาเลือกเกี่ยวกับการขนส่งระบบรางช่วง ปี3-4 แต่พอที่ลาดกระบังเปิดก็เลือกมาเรียนที่นี้เลย เพราะอยากเรียนระบบรางตั้งแต่ปี 1 แถมตอนนี้ประเทศไทยกำลังให้ความสนใจที่จะพัฒนาขนส่ง ทั้งรถไฟ และรถไฟฟ้า มั่นใจว่า เรียนจบแล้วมีงานทำได้แน่ ที่สำคัญเพื่อนคุณพ่อเป็นวิศวกร ได้แนะนำว่า ถ้าเรียนทางด้านนี้ รับรองว่า มีตลาดแรงงานรอรับเข้าทำงาน
      
       มินท์ บอกว่า นอกจากความตั้งใจและวางแผนการเรียนสำหรับหลักสูตรนี้ที่นอกจากจะเป็นหลักสูตรใหม่และเป็นนักศึกษารุ่นแรกแล้ว จะต้องเก็บเกี่ยวความรู้ทางด้านภาษา เพราะในอนาคตประเทศไทยจะต้องออกสู่ประชาคมอาเซียน นอกจากจะมีความรู้ด้านวิชาชีพแล้ว จะต้องมีความสามารถทางด้านภาษาเพื่อใช้สื่อสารกับชาวต่างชาติ เพราะอนาคตอาจจะได้ออกไปทำงานในประเทศหรือเราอาจจะมีเพื่อนร่วมงานเป็นชาวต่างชาติก็ได้
      
       ส่วน แพรว เธอบอกว่า คณะวิศวฯ เป็นคณะใฝ่ฝันอยากจะเรียนมากที่สุด แต่ยังไม่แน่ใจว่า จะเรียนสาขาวิชาไหน แต่พอหาข้อมูลแล้ว คิดว่า ระบบการขนส่งของประเทศไทยกำลังได้รับการพัฒนามากขึ้น จึงตัดสินใจเรียนหลักสูตรวิศวกรรมขนส่งระบบราง “แม้ว่าจะไม่มีรุ่นพี่ในหลักสูตร แต่เราก็มีรุ่นพี่สาขาเครื่องกลมาให้คำแนะนำ เพราะหลักสูตรนี้ใช้ทักษะเครื่องกลเป็นส่วนใหญ่ อาศัยการปรับตัวกับการใช้ชีวิตเด็กมหาวิทยาลัย ปรับตัวที่ได้เจอเพื่อนใหม่ และยังต้องปรับเกี่ยวกับการเรียนที่หนักมากขึ้นอีกด้วย”