โครงการปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์เกษตร (ภาคพิเศษ) หรือโครงการหลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร (ภาคพิเศษ) เป็นโครงการที่จัดตั้ง
เพื่อรองรับความต้องการของการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจและการเกษตรกรรม ทั้งนี้ภาคเกษตรกรรมเป็นฐานการผลิตและฐานทางวัฒนธรรมสำหรับสังคมไทยมาตั้งแต่อดีตกาล แม้กระทั่งปัจจุบันภาคเกษตรกรรมก็ยังมีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจไทย ดังนั้น การพัฒนาสวัสดิการของประชาชนในประเทศให้มีความกินดีอยู่ดี จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องพัฒนาระบบเศรษฐกิจการเกษตรตั้งแต่ระดับไร่นาจนถึงระดับผู้บริโภคในประเทศและการส่งออก ให้สามารถเพิ่มมูลค่าของผลผลิตทางการเกษตรเอื้อโอกาสให้กับเกษตรกรทุกหมู่เหล่าอย่างเป็นธรรม และให้มีความเข้มแข็ง จนสามารถพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งในด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ต้องเผชิญกับความเปราะบางและความผันผวน ด้านเทคโนโลยีที่ต้องเผชิญกับการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงการพัฒนาพลังงานฐานชีวภาพ และเทคโนโลยีชีวภาพ ด้านสังคมและวัฒนธรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพลวัตทางการค้าและการตกลงระหว่างประเทศที่ระบบเศรษฐกิจการเกษตรไทยต้องปรับตัวเพื่อโอกาสและการรักษาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรเป็นสาขาวิชาที่นำหลักทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์กับการจัดการและการพัฒนาภาคการเกษตร โดยปรัชญาในปัจจุบันคือ “การเพิ่มคุณค่าของภาคการเกษตรไทย” ดังนั้นภายใต้ความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงในอนาคต สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรจึงมีภารกิจที่สำคัญยิ่งในการผลิตบัณฑิต เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และการสร้างโอกาสใหม่ๆ ในการเพิ่มคุณค่าของภาคการเกษตรไทย โดยการผลิตบัณฑิตสาขาเศรษฐศาสตร์เกษตรให้เพียงพอต่อความต้องการที่การผลิตมีการมุ่งเน้นให้เกิดความสมดุลระหว่าง ก) ความรู้อย่างลึกซึ้งในหลักคิดทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ข) ความเข้าใจในบริบททางนิเวศวัฒนธรรม และการพัฒนาเทคโนโลยีของภาคการเกษตรไทย และ ค) ความรู้ในการเปลี่ยนแปลงของกฎกติกาทางเศรษฐกิจและพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากรผู้ดำเนินโครงการเป็นภาควิชาแรกที่เปิดสอนด้านเศรษฐศาสตร์เกษตรในประเทศไทย ปัจจุบันภาควิชาฯ มีการจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกในด้านเศรษฐศาสตร์เกษตร มีคณาจารย์ที่มีความชำนาญและมีคุณวุฒิทางการศึกษาอย่างเพียงพอในการจัดการเรียนการสอนและเป็นผู้นำในการวิจัยด้านเศรษฐกิจการเกษตรในหลายด้าน ดังนั้นโครงการที่ดำเนินการภายใต้ภาควิชาฯ จึงมีความพร้อมในการจัดการศึกษาที่จะมีการบูรณาการความรู้ทั้งทางเศรษฐศาสตร์ทางการเกษตรและพลวัตของเศรษฐกิจโลกเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มคุณค่าของภาคการเกษตรไทยอย่างแท้จริง
วันเวลาการเรียนการสอน
การเรียนการสอนจัดในช่วงนอกเวลาราชการ โดยมีการเรียนการสอนในแต่ละสัปดาห์ๆ ละประมาณ 6 วัน รวมสัปดาห์ละประมาณ 21 ชั่วโมง คือวันจันทร์ – วันศุกร์ ระหว่างเวลา 16.30 - 19.30 น.
วันเสาร์ ระหว่างเวลา 09.00 - 16.00 น.ทั้งนี้การศึกษาแบ่งเป็นปีละ 2 ภาคการศึกษา โดยตลอดหลักสูตรปกติใช้เวลา 4 ปี และมีการเรียนในภาคฤดูร้อนตามความจำเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษาโครงการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาแบบเหมาจ่ายรายภาคการศึกษาๆ ละประมาณ 36,200 บาทเปิดรับสมัคร 1 เมษายน ถึง 12 พฤษภาคม 2556รายละเอียดทั้งหมด http://www.ageconsp.eco.ku.ac.th/Calendar/Admissions56.pdf