ทันตแพทย์ไทยโตรับเออีซี


ทันตแพทย์ไทยโตรับเออีซี อ่อนภาษาหมดสิทธิ์เป็นหน. : คอลัมน์ท่องโลกเรียนรู้ : โดย...หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ


               "แม้เราจะภูมิใจว่า ทันตแพทย์ของไทยถือเป็นที่  1 ในอาเซียน จากผลการสำรวจระดับนานาชาติ ขณะที่สิงคโปร์ก็มีมาตรฐานสูงเช่นกัน แต่ถ้าเทียบกับไทย ทั้ง
ของปริมาณ คุณภาพและสาขาที่แยกออกไปอีก 10 สาขา นับว่าทันตแพทย์ไทยเป็นผู้นำ และยังอยู่ในอันดับ 4 ของโลกด้วย แต่ค่ารักษาพยาบาลของเราถูกกว่ามาก เช่น การผ่าตัดฟันคุด ที่เมืองไทยประมาณ 2,000 บาท แต่ที่อเมริกาไม่น้อยกว่า 5 หมื่นบาท หากดมยาสลบและทำในโรงพยาบาลราคาก็จะสูงขึ้นไปอีก บางคนบินกลับมาทำฟันที่เมืองไทยเสียค่าเครื่องบินมายังคุ้มกว่าผ่าตัดที่นั่น" ทพ.ทองนารถ คำใจ คณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว
                ทำให้ประเทศที่มีกำลังซื้อ เช่น ยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น เข้ามาทำฟันที่เมืองไทย ดังนั้นตลาดแรงงานสาขาทันตแพทย์ของไทย จึงไม่ได้อยู่ที่ในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน แต่เป็นตลาดโลก ดังนั้นเมื่อเปิดเออีซี เป็นสัญญาณว่า สถานพยาบาลทำฟันในภาคเอกชนจะต้องเติบโตขึ้น เพื่อรองรับการเปิดเสรี การปรับตัวรับเออีซีนั้น ล่าสุดปรับเพิ่มสัดส่วนทุนต่างชาติมาซื้อหุ้นในภาคเอกชนจากร้อยละ 49 เป็น ร้อยละ 70 ตามข้อตกลงในอาเซียน การทำงานจะมีลักษณะเป็น Mix Staff คือ มีทีมงานจากหลายชาติ ซึ่งอาจจะเป็นหมอจากชาติอื่นที่ไหลเข้ามาทำงานในไทยร่วมอยู่ด้วย
                "หากหมอ ทันตแพทย์ หรือ พยาบาลของไทยไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษกับผู้บริหาร หรือไม่สามารถชี้แจง สรุปงานในที่ประชุมเป็นภาษาอังกฤษได้ แม้คุณจะมีฝีมือ หรืออายุงานมากแค่ไหนก็ตาม คุณก็หมดสิทธิ์ที่จะเป็นหัวหน้าทีม แล้วไปเป็นลูกน้องชาติอื่นแทน จึงอยากฝากถึงทุกคนในสาขานี้ให้เร่งพัฒนาภาษาอังกฤษของตัวเองด้วย เริ่มตั้งแต่นักศึกษาไปจนถึงผู้ที่ประกอบวิชาชีพแล้ว" รศ.ทพ.ทองนารถ กล่าว
                รศ.ทพ.ทองนารถ ระบุว่า เก้าอี้ทำฟัน 1 ตัวราคาไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาทแล้ว ค่าใช้จ่ายในการผลิตทันตแพทย์จึงสูงมาก แต่เมื่อเรียนจบออกไปเป็นทันตแพทย์ หากรับราชการจะมีเงินเดือนประมาณ 5 หมื่นบาท สูงกว่าแพทย์เสียอีก หรือหากทำงานในภาคเอกชน ถ้าจบใหม่ เงินเดือนก็ไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นบาท ยิ่งมีประสบการณ์มากขึ้น รายได้แต่ละเดือนยิ่งมากขึ้น คนที่ไปสมัครเรียนกับมหาวิทยาลัยเอกชนนั้น ไปดูคะแนนการสอบเข้าได้เลยว่าสูงไม่แพ้มหาวิทยาลัยของรัฐ แม้ว่าค่าเล่าเรียนจะสูงกว่าหลายเท่าตัวก็ตาม แต่ตอนนี้นักศึกษาทันตแพทย์จ่ายค่าหน่วยกิตเท่ากับคณะอื่นๆ เช่น ที่ มช.จ่ายค่าหน่วยกิตปีละ 2 หมื่นบาท 6 ปี เป็นเงิน 1.2 แสนบาท
                ทั้งนี้ ทันตแพทย์ยังอยู่ในกลุ่มสาขาอาชีพที่ขาดแคลน ล่าสุดมีทันตแพทย์ในประเทศไทยประมาณ 12,500 คน เมื่อเทียบกับประชากร 60 ล้านคน ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาเพียง 8 แห่งที่เป็นของรัฐ ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ 4 แห่ง และภูมิภาค 4 แห่ง รวมทั้งสถาบันการศึกษาของภาคเอกชนอีก 1 แห่งในกรุงเทพฯ ที่ผลิตทันตแพทย์ได้ และกำลังจะเริ่มรับนักศึกษาทันตแพทย์เพิ่มขึ้นได้อีก 3 แห่งในภูมิภาค ใน 1-2 ปีการศึกษาหน้า อยากเสนอภาครัฐปรับตัว เช่น การรับนักศึกษาคณะทันตแพทย์ จะต้องยกเลิกกฎระเบียบเดิมที่บอกว่าให้ทำงานใช้ทุนภาครัฐเป็นเวลา 3 ปี มิฉะนั้นจะต้องใช้หนี้ประมาณ 4 แสนบาท เป็นให้นักศึกษาเลือกเองว่า จะขอทุนเรียนเมื่อจบมาต้องใช้ทุน หากจะออกไปภาคเอกชนจะต้องถูกปรับหลายเท่า เช่น ในหลัก 20 ล้านบาท มิใช่ปรับแค่ 4 แสนบาท หรือให้นักศึกษาจ่ายเงินค่าเล่าเรียนเอง
                โดยเสนอตัวเลขค่าใช้จ่ายในการเรียนทันตแพทย์ในมหาวิทยาลัยของรัฐที่ประมาณ 6 แสนบาท ซึ่งคำนวณจากค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 2 ล้านบาท หากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ นักศึกษาต้องมีส่วนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายร้อยละ 30 คือตัวเลข 6 แสนบาท ถูกกว่ามหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวของประเทศในตอนนี้มีค่าใช้จ่ายตลอดหลักสูตร 6 ปี ที่ 4.2 ล้านบาท หรือปีละประมาณ 7 แสนบาท
                ขณะที่ ปกรณ์ อมรชีวิน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานในกลุ่มอาเซียน รวมทั้งแนวโน้มของ 7 สาขาอาชีพบวก 1 ที่นับว่าเป็นแรงงานฝีมือ คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี นักสำรวจ และการบริการถือว่าเป็นแรงงานฝีมือและมีความรู้ สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ รวมทั้งความคุ้มครองทางกฎหมายได้ง่ายกว่าแรงงานทั่วไป ซึ่งเมื่อเปิดเออีซีแล้ว ภาครัฐไม่กังวลแรงงานกลุ่มนี้เท่ากับกลุ่มแรงงานทั่วไปที่มีทั้งไหลเข้าและไหลออกจากประเทศไทย แต่ไม่ว่าอย่างไรก็จะดูแลตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกันทุกกลุ่ม ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ หรือการคุ้มครองแรงงานในทุกๆ ด้าน
              
.......................................
(ทันตแพทย์ไทยโตรับเออีซี อ่อนภาษาหมดสิทธิ์เป็นหน. : คอลัมน์ท่องโลกเรียนรู้ : โดย...หทัยรัตน์  ดีประเสริฐ)