เปิดโครงสร้าง ม.เกษตรศาสตร์ นำพา 5 สาขาวิชาหลักสู่อาเซียน




UploadImage


          รองศาสตราจารย์วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยถึงแผนการศึกษา เพื่อปั้นผู้นำเพื่อพัฒนาองค์ความรู้พร้อมก้าวสู่ประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ได้อย่างมั่นใจ ว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต้องปรับตัวในการพัฒนาการเรียน การสอน การวิจัย ตลอดจนการบริการวิชาการ ทั้งเร่งรัดพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้สามารถรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับความต้องการของสังคม ในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และเป็นปีที่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครบรอบ 72 ปี โดยขณะนี้มหาวิทยาลัยฯ กำลังจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารมหาวิทยาลัยในระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2556-2565) เพื่อใช้เป็นกรอบทิศทางและแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัย วิทยาเขต และหน่วยงานต่างๆ ให้มีความเข็มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีความเป็นสากลและรองรับกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ในอนาคต โดยมหาวิทยาลัยฯ มีเป้าหมายให้มหาวิทยาลัยก้าวสู่ 200 อันดับแรกของโลก และให้มหาวิทยาลัยฯ เป็นผู้นำระดับภูมิภาคเอเชีย ในสาขาที่เข้มแข็ง 5 สาขา พร้อมขับเคลื่อนอีก 3 สาขา


          อธิการบดีได้กล่าวถึงสาขาที่จะผลักดันและมีศักยภาพในการพัฒนาให้มีศักยภาพยิ่งขึ้นไป ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยแยกออกเป็นรายละเอียดในแต่ละสาขา ดังนี้


          ในสาขาเกษตรศาสตร์ ม.เกษตรได้ชื่อว่า เป็นสถาบันอุดมศึกษาแรกของประเทศไทยที่จัดการศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวกับการเกษตร โดยครอบคลุมทั้งศาสตร์ทางการเกษตร ประมงและป่าไม้ ด้วยองค์ความรู้ และประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมากว่า 70 ปี มหาวิทยาลัยฯ จึงเป็นผู้นำในการผลิตทรัพยากรบุคคลในสาขาเกษตรศาสตร์ไปสู่ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในประเทศและองค์กรในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร เทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตร จนทำให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้นำสาขาเกษตรศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียและเป็นศูนย์กลางองค์ความรู้และนวัตกรรมการเกษตรแผนใหม่ในระดับภูมิภาเอเชีย


           นอกจากนี้ สาขาวิทยาศาสตร์การอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตรมีความโดดเด่นทั้งในด้านวิชาการและงานวิจัย มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร ทั้งสาขา เทคโนโลยีการบรรจุ เทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งวิทยาการสิ่งทอ และการจัดการเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ในฐานะผู้นำด้านอุตสาหกรรมเกษตรของประเทศไทยและเอเชีย การเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติระดับปริญญาตรี สาขาวิชา “นวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร” หลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ผลงานวิจัยต่าง ๆ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม เช่น การผลิตอาหารเพื่อความมั่นคงด้านโภชนาการ เทคโนโลยีการผลิตพลาสติกชีวฐานและพลาสติกแตกสลายได้ทางชีวภาพ นับได้ว่าคณะอุตสาหกรรมเกษตร เป็นต้นแบบการเรียนการสอนของสาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตรที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ในยุคของการแข่งขัน การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ


           สาขาสัตวแพทยศาสตร์ โดยคณะสัตวแพทยศาสตร์มีความพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง และเพิ่มศักยภาพให้เข้มแข็งในก้าวสู่การเป็น “สถาบันสัตวแพทย์ ชั้นนำ 1 ใน 5 ของเอเชีย” ในปี 2015 หลักสูตรที่มีมาตรฐานและมีความเป็นสากลมากขึ้น การผลิตบัณฑิตให้เป็น “สัตวแพทย์ของประชาชน” เน้นด้านคลินิกปฏิบัติโดยการบูรณาการมุ่งให้นิสิตเรียนรู้การแก้ปัญหาจากประสบการณ์และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงมากกว่า เพิ่มทักษะภาษาอังกฤษ การฝึกปฏิบัติใน 4 โรงพยาบาลสัตว์มากขึ้น การฝึกและเรียนรู้ รวมถึงการฝึกงานในฟาร์ม ในการพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนให้มีความเข้มแข็งไปพร้อม ๆ กัน


          สาขานาโนเทคโนโลยีเพื่อเกษตรและอุตสาหกรรม โดยมีศูนย์นาโนเทคโนโลยี และศูนย์วิทยาการขั้นสูงด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมเคมี อาหารและการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักที่มุ่งเร่งพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในสาขานาโนเทคโนโลยี ด้านเกษตรและอาหาร เพื่อความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาคเอเชีย ในการสร้างนวัตกรรมวัสดุชีวฐานและวัสดุสมาร์ท เป็นต้น ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มุ่งมั่นสร้างงานวิจัยและองค์ความรู้ใหม่ในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้าน“นาโนเทคโนโลยีและการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเคมี อาหาร และการเกษตร” ในระดับประเทศ อันจะนำไปสู่การพัฒนาทางด้านต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและลดการพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมของประเทศสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน


          สาขาวิศวกรรมซอฟแวร์และคอมพิวเตอร์ จากผลงานนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ไปสร้างชื่อเสียงในเวทีระดับโลก ซึ่งได้มาจากความคิดและความสามารถของนิสิตจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีศักยภาพของอาจารย์ผู้สอน นิสิตผู้เรียน รวมทั้งการบริหารจัดการระบบการเรียนการสอนของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ด้านการต่างประเทศ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ยังได้มีแผนการพัฒนาศักยภาพของทั้งนิสิตและคณาจารย์ เพื่อตอบรับกับประชาคมโลก โดยให้การสนับสนุนนิสิตไปฝึกงานและทำวิจัยกับสถาบันวิจัยชั้นนำในต่างประเทศ และผลิตผลงานวิจัย พัฒนาด้านการเรียนการสอน ให้ทัดเทียมกับคณาจารย์ และนักวิจัยจากในต่างประเทศ


          รองศาสตราจารย์วุฒิชัย กปิลกาญจน์ ยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า นอกจากจะผลักดัน 5 สาขาหลักแล้วยังได้พัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งและขับเคลื่อนใน อีก 3 สาขาคือ สาขาโลจิสติกส์ ด้านวิศวกรรมโลจิสติกส์ทางถนน ราง และท่อ โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมการขนส่งระบบราง ที่ได้ร่วมกับองค์กรชั้นนำของโลกและของประเทศ ซึ่งเปิดสอนแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศ ด้านวิศวกรรมโลจิสติกส์ทางน้ำและทางทะเล เปิดสอนที่ วิทยาลัยพาณิชนาวีนานาชาติ วิทยาเขตศรีราชา ด้านวิศวกรรมโลจิสติกส์ทางอากาศ ในภาควิชาวิศวกรรมการบินและอวกาศ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ทั้งวิทยาเขตบางเขนและวิทยาเขตศรีราชา ด้านอุตสาหกรรมเกษตร ที่คณะอุตสาหกรรมเกษตร ด้านสารสนเทศโลจิสติกส์ โดย สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (INOVA) และ ด้านเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจโลจิสติกส์ โดย คณะเศรษฐศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และ คณะวิทยาการจัดการ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่สามารถตอบโจทย์ของระบบโลจิสติกส์ได้ทุกรูปแบบ และมีความพร้อมในการถ่ายทอดงานวิจัยและองค์ความรู้ อันจะนำไปพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ


          สาขาบริหารธุรกิจ ได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การฝึกอบรม และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาบริหารธุรกิจ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดในภูมิภาคเอเชีย และการจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง 5 ศูนย์ เช่น ศูนย์บริการจัดการเทคโนโลยีนวัตกรรมและอุตสาหกรรม ศูนย์เชี่ยวชาญตลาดภูมิภาคเอเชีย ศูนย์เทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ฯลฯ รวมทั้งการเปิดรายวิชาเกี่ยวกับ AEC ให้เป็นวิชาเลือก 3 รายวิชา และจะเปิดหลักสูตรการฝึกอบรมในกลุ่มประเทศอาเซียนโดยเฉพาะ


          สาขาสาธารณสุขและพยาบาล เป็นอีกหนึ่งสาขาที่เสริมศักยภาพการผลิตบุคลากรด้านสาธารณสุขและพยาบาล มาเสริมกลไกการขยายตัวด้านการให้บริหารรักษาพยาบาลของประเทศ ซึ่งได้เปิดสอนหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต ที่วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร โดยปีการศึกษา 2556 เปิดรับนิสิตจำนวน 350 คน และเปิดหลักสูตรพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) สาขาวิชาการพยาบาลครอบครัวและอนามัยชุมชน ที่วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นพรัตน์วชิระ ซึ่งเป็นสถาบันสมทบของ มก.นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยฯ ยังได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษา สำหรับผลิตบุคลากรเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เพื่อความกินดีอยู่ดีของคนในชาติและเพื่อความมั่นคงทางด้านสุขภาพและสาธารณสุขของภูมิภาคเอเชีย





ที่มา: http://www.naewna.com