ม.เอกชนอ่วม เร่งปรับตัวก่อนเจ๊ง! หลัง ม.รัฐ เพิ่ม
“หลักสูตร-ขยายศูนย์-เพิ่มภาคพิเศษ” ดึงนักศึกษา ชี้เด็กยอมจ่ายแพงเพราะ
ม.รัฐได้รับการยอมรับมากกว่า ด้านคณบดีเศรษฐศาสตร์ มธ.ระบุ
มหาวิทยาลัยต้องแข่งกันที่คุณภาพ
เผยรายได้จากหลักสูตรพิเศษช่วยสถาบัน-เด็กขาดแคลนทุนทรัพย์ ขณะที่
ม.หอการค้า
ยอมรับเด็กบางสาขาลดลง ยัน ม.เอกชนต้องสร้างจุดแข็งและคุณภาพ
ส่วน ม.ศรีปทุม ชูจุดขายเพียบ “ปัญญาภิวัฒน์ของซีพี” โชว์ความเด่นเฉพาะทาง
อัด ม.รัฐฯ ควรวางตัวเป็นแบบอย่างทั้งคุณภาพ, มาตรฐาน, วิชาการ
มากกว่าการที่จะมาขยายปริมาณแข่งเอกชน
การเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของไทยมีช่องทางให้เลือกมากยิ่งขึ้น
และขณะนี้เริ่มเข้าสู่ฤดูการวิ่งไล่สอบของเด็กที่กำลังจะจบ ม.6
ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2556 นี้
โดยสถาบันของรัฐที่เปิดให้มีการสอบตรงมีด้วยกันหลายแห่ง
และถ้าพลาดสอบตรงก็ยังมีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐได้อีกหลายทาง
โดยเฉพาะเด็กที่ฝันอยากเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยของรัฐ
มีพื้นที่เปิดกว้างขึ้นกว่าในอดีตที่มีเพียงการสอบเอนทรานซ์
แต่ปัจจุบันมีการเปิดรับหลายรอบในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสอบตรง,
โควตาต่างๆ, การยื่นแอดมิสชันกลาง, รูปแบบของโครงการพิเศษ, ภาคพิเศษ,
ภาคภาษาอังกฤษ ฯลฯ
โดยรูปแบบของโครงการพิเศษ, ภาคพิเศษ, ภาคภาษาอังกฤษ
(แล้วแต่มหาวิทยาลัยจะเรียก และแต่ละแห่งมีรายละเอียดที่ต่างกัน)
จะมีค่าเล่าเรียนสูงกว่าภาคปกติ
แต่ก็เป็นที่นิยมในหมู่นักเรียนเป็นอย่างมาก เนื่องจากชื่อเสียงของ
ม.รัฐมีภาษีมากกว่ามหาวิทยาลัยของเอกชนมาก
อีกทั้งในปริญญาบัตรก็ไม่ได้ระบุว่าเป็นภาคพิเศษ
จึงทำให้นักเรียนที่พลาดหวังจากการสอบตรง แอดมิสชันกลาง หรือโควตา
หันไปให้ความสนใจศึกษาในหลักสูตรพิเศษซึ่งจะเปิดรับในภายหลัง
ตัวอย่างเช่นหลักสูตรปริญญาตรี
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดคณะวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (รับตรงพิเศษ) เป็นหลักสูตรเดียวกับภาคปกติ
สอนเป็นภาษาไทย แต่มีเวลาเรียนที่ต่างกัน จะอยู่ในช่วงเวลาประมาณ
15.00-18.00 น. แต่ก็มีบางวิชาที่เรียนตอนเช้า หรือเวลาอื่น
จึงทำให้ผู้เรียนไม่สามารถเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยได้
และจะมีค่าเทอมที่สูงกว่าภาคปกติประมาณ 90% อยู่ที่เทอมแรก
ค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 60,000 บาท ปีละประมาณ 120,000 บาท ค่าหน่วยกิตประมาณ
1,000 บาทต่อหน่วย ต่างจากภาคปกติที่มีการเหมาจ่ายอยู่ประมาณ 10,000
บาทต่อเทอม ซึ่งรับตรงพิเศษนี้จะรับจำนวน 80 คน และเมื่อจบการศึกษา
ปริญญาบัตรก็จะเป็นตัวเดียวกันกับภาคปกติ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม
(โครงการพิเศษ) เป็นสาขาที่ไม่มีเปิดสอนในภาคปกติ เน้นการทำวิจัย
และลงพื้นที่ มีโครงการนี้มาแล้ว กำลังเป็นรุ่นที่ 5
ลักษณะการเรียนการสอนเป็นภาษาไทย มีค่าหน่วยกิตอยู่ที่ 1,200 บาทต่อหน่วย
ค่าบำรุงปีละ15,000 บาท และมีค่าเดินทางไปวิจัยภาคสนามยังต่างประเทศ
ค่าใช้จ่ายประมาณ 50,000 บาท การยื่นสมัครจะใช้ผล ONET ของปี 2553-2554 GPA
เกิน 2.5 ขึ้นไป พร้อมยื่นคะแนน GAT
ซึ่งกระบวนการคัดเลือกของทางมหาวิทยาลัยจะเลือกจากผู้ที่มีคะแนนสูงสุดคัด
ออกมาจำนวน 400 คน จากนั้นจึงมาสอบสัมภาษณ์ เพื่อคัดเข้าศึกษาต่อประมาณ 120
คน
ส่วนของมหาวิทยาลัยบูรพาเปิดคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์
หลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิต(ภาคพิเศษ)
มีการเรียนการสอนที่ต่างจากภาคปกติในเรื่องของเวลา และกลุ่มในการเรียน
โดยภาคปกติจะเรียนในช่วงเวลาประมาณ 08.00-15.00 น.
ส่วนภาคพิเศษจะเรียนในช่วงเวลาประมาณ 15.00-20.00 น.
แต่ก็มีบางรายวิชาที่เรียนร่วมกัน ในส่วนของหลักสูตร
และอาจารย์มีลักษณะเดียวกัน และต่างกันที่ค่าใช้หน่วยกิตภาคปกติจะอยู่ที่
100 บาทต่อหน่วย ส่วนภาคพิเศษจะอยู่ที่ 400 บาทต่อหน่วย ภาคปกติจะรับที่ 50
คน ภาคพิเศษจะรับที่ 240 คน
มหาวิทยาลัยศิลปากร
เปิดรับนักศึกษาวิทยาศาสตร์เพิ่มพิเศษในระดับปริญญาตรี แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 ในสาขาวิชาคณิตศาสตร์, คณิตศาสตร์ประยุกต์, สถิติ, ฟิสิกส์,
เคมี, ชีววิทยา, จุลชีววิทยา,วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม กลุ่มที่ 2
ในสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์, เทคโนโลยีสารสนเทศ
มีลักษณะการเรียนการสอนรวมกับผู้ที่สอบเข้าในภาคปกติ
แต่จะมีค่าหน่วยกิตที่แพงกว่า ส่วนค่าบำรุงเท่าปกติ
ซึ่งจะมีอัตราค่าเทอมที่ประมาณ 30,000 บาทต่อเทอม
ขณะที่ภาคปกติจะอยู่ที่ประมาณ 9,000-10,000 บาทต่อเทอม
ขณะเดียวกันหากพิจารณาค่าเทอมหรือค่าหน่วยกิตของ ม.เอกชน เช่น
ม.กรุงเทพ ในสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ค่าหน่วยกิตวิชาพื้นฐาน 1,400 บาท ค่าหน่วยกิตคณะ สาขา 1,700 บาทต่อหน่วย
รวมทั้งสิ้น 137 หน่วยกิต เฉลี่ยเทอมละประมาณ 40,000 บาทต่อเทอม
จากข้อมูลดังกล่าวจะพบว่าโครงการพิเศษ หรือภาคพิเศษของ
ม.รัฐมีอัตราค่าเล่าเรียนรวมไม่ต่างจาก ม.เอกชน
และพบว่านักเรียนที่พลาดหวังจากการยื่นคะแนนในแอดมิสชันกลางยังคงนิยมเลือก
สมัครสอบในโครงการพิเศษ หรือภาคพิเศษก่อนที่จะเลือกไปสมัครเรียนยัง ม.เอกชน
ซึ่งจากการสอบถามไปทางคณะที่เปิดรับเพิ่มพบว่าอัตราผู้สมัครใน ม.รัฐฯ
ภาคพิเศษมีจำนวนมากถึง 3 เท่าในอัตรารับจริงตามที่ประกาศรับในแต่ละปี
อย่างไรก็ดี นอกจาก ม.รัฐจะเปิดภาคพิเศษในส่วนกลางแล้ว
หลายแห่งยังเปิดศูนย์ หรือวิทยาเขตในหลายพื้นที่ พร้อมผุดสาขา
หลักสูตรใหม่ๆ ขึ้นมากมาย ส่วนหนึ่งก็เพื่อดึงดูดนักเรียน ขยายฐานเพิ่มขึ้น
แม้จะมีข้อกังขาเกี่ยวกับคุณภาพของเด็กที่จบออกมาในบางพื้นที่ก็ตาม
และในใบปริญญาบัตรจะไม่ได้ระบุว่าจบในศูนย์ หรือภาคเรียนใด
ดังนั้น การที่ ม.รัฐแห่เปิดหลักสูตรต่างๆ มากมาย
และยังเรียกเก็บค่าหน่วยกิตที่สูงใกล้เคียงกับ ม.เอกชน
เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลมีนโยบายเปลี่ยนสถานะของมหาวิทยาลัยรัฐ
มาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ หรือที่เราได้ยินคุ้นหูก็คือ “ออกนอกระบบ”
ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษามากมาย
“มหาวิทยาลัยของรัฐก็ต้องหาวิธีหาเงินเพื่อให้อยู่ได้
จนกลายเป็นธุรกิจการศึกษาโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพการเรียน
การสอนว่าบัณฑิตที่จบออกมาจะเป็นอย่างไร”
ขณะเดียวกันการเปิดหลักสูตรพิเศษต่าง ๆ ของ ม.รัฐฯ ก็ไปกระทบ
ม.เอกชนที่ต้องปรับตัวให้สามารถแข่งขันกับ ม.รัฐให้ได้
เพราะนักศึกษาจำนวนไม่น้อยย่อมเลือกที่จะเข้าเรียน ม.รัฐฯ
ซึ่งมีชื่อเสียงดีกว่า ม.เอกชนแน่นอน
ในระยะยาว ม.เอกชนที่ไม่มีความเข้มแข็ง
หรือปรับกลยุทธ์ไม่ทันก็อาจต้องปิดตัวลงได้เนื่องจากค่านิยมของคนไทยยังคง
ให้คุณค่า ความสำคัญกับ ม.รัฐฯ มากกว่าเด็กที่จบออกมาจากม.เอกชน
|
|
ภาพ: อินเทอร์เน็ต |
|
|
ทุกมหาวิทยาลัยต้องแข่งกันที่คุณภาพ
โดย รศ.ดร.ภาณุพงศ์ นิธิประภา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า กรณีที่ ม.รัฐฯ มีหลักสูตร
หรือภาคการเรียนที่เพิ่มจากภาคปกติ
ซึ่งแม้เด็กจะยังยึดติดกับชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยรัฐ
ก็ย่อมส่งผลต่อวงการศึกษาใน 2 แง่มุม
ซึ่งจะเกิดการแข่งขันกันในด้านคุณภาพมากขึ้น
ภาคเอกชนก็จะปรับตัวให้มีคุณภาพที่เพิ่มขึ้น
และเชื่อว่าในอนาคตยังจะช่วยลดค่านิยมในการมีปริญญาหลายใบ
อีกทั้งจะหันมามองที่คุณภาพของนิสิต นักศึกษาที่จบแล้วสามารถทำงานได้
มากกว่าการเป็นเพียงแค่สัญลักษณ์ของสถาบัน
แต่การที่ ม.รัฐฯ หลายแห่งมีการเปิดศูนย์
วิทยาเขตในต่างจังหวัดนั้น เป็นการเปิดโอกาสทางการศึกษาที่เพิ่มมากขึ้น
และถ้าจะมองในเรื่องอัตราค่าเล่าเรียนของนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรีของ
ม.รัฐฯ ที่แท้จริงจะถูกกว่าต้นทุนจริง ค่าใช้จ่ายที่ใช้สอนนักศึกษา
หากนำมาคิดตามอัตราที่แท้จริง ดังนั้น
ส่วนหนึ่งที่จะสร้างรายได้ให้แก่มหาวิทยาลัยรัฐฯ ก็คือ การจัดหลักสูตร
“โครงการพิเศษ” ที่นักศึกษาต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในการเล่าเรียนมากกว่าภาคปกติ
อย่างธรรมศาสตร์เองก็มีบางสาขาที่เปิดโครงการพิเศษขึ้น
มีการเรียนการสอนที่เน้นภาษาอังกฤษ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคม
หรือเรียนคนละวิทยาเขต เป็นต้น
ทั้งหมดนี้จะเป็นรายได้ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนในส่วนที่มหาวิทยาลัย
ขาด ซึ่งจะเป็นแง่ดีกับนักศึกษาภาคปกติด้วย
แต่ถ้านักศึกษาไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอ
และต้องการเรียนหลักสูตรในโครงการพิเศษของทางธรรมศาสตร์
ก็สามารถขอทุนการศึกษาจากทางมหาวิทยาลัยได้
“บางครั้งมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีรายรับจากการเก็บค่าบำรุง
ค่าเล่าเรียนที่สูงกว่ามหาวิทยาลัยรัฐฯ
ก็มาดึงตัวอาจารย์จากมหาวิทยาลัยของรัฐฯ ไป ดังนั้น หากมหาวิทยาลัยของรัฐฯ
มีรายรับที่สูงขึ้น ก็จะสามารถรักษาอาจารย์บางท่านไว้ได้”
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุ
กังวล “ศูนย์” ขาดคุณภาพ เด็กรับเคราะห์
ด้าน ม.เอกชน
ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเคลื่อนไหว
เปลี่ยนแปลงหลักสูตรต่างๆ ของ ม.รัฐฯ ที่มีการเพิ่มจำนวน
และเปิดช่องทางเพิ่มให้นักเรียนสามารถเข้าศึกษาใน ม.รัฐฯ ได้มากขึ้น
ดังนั้น ม.เอกชนต้องหาทางปรับตัวให้อยู่รอดจากการเปลี่ยนแปลงในหลายรูปแบบ
ผศ.ดร. วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ประธานฝ่ายวิชาการ
และประกันคุณภาพของสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย บอกว่า
การกระจายศูนย์ การตั้งวิทยาเขต หรือการขยายตัวของมหาวิทยาลัยรัฐฯ
สู่หลายพื้นที่ และมีการเปิดภาคพิเศษในรูปแบบต่างๆ
เพิ่มมากขึ้นนั้นส่งผลต่อ ม.เอกชนอย่างเลี่ยงไม่ได้
โดยในประเด็นปัญหาดังกล่าวก็มีข้อดี เพราะจะเป็นแรงขับให้
ม.เอกชนทำงานหนักขึ้น พยายามมากขึ้น เร็วขึ้น เพื่อทำให้คุณภาพสูงขึ้นไป
ก็จะส่งผลให้บัณฑิตที่จบออกมามีคุณภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ หากมหาวิทยาลัยออกไปเพิ่มศูนย์นอกสถานที่
หากออกไปอย่างมีคุณภาพ ออกไปเต็มตัว
ไปยังสถานที่ที่ขาดแคลนก็เป็นเรื่องที่ดี
เพราะเป็นการทำให้คุณภาพชีวิตในพื้นที่เหล่านั้นดีขึ้น
แต่ไม่ใช่ไปแบบหาบเร่ แผงลอย ก็คือไปแบบไม่มีความพร้อม
ทั้งในส่วนของสถานที่ อุปกรณ์ อาจารย์ ฯลฯ ก็จะกลายเป็นปัญหาของสังคม
และประเทศชาติ
“ถ้าขยายไปโดยไม่เอาคุณภาพไปด้วย ก็จะกลายเป็นปัญหาสังคม
บางครั้งร้ายแรงถึงขนาดไม่ได้รับการรับรองก็มีให้เห็นแล้ว
เด็กเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อน จริงๆ แล้วหากต้องการเพิ่มรายได้
ก็ไม่จำเป็นต้องลดคุณภาพ และหากมหาวิทยาลัยใดมีศูนย์แบบนั้นเยอะๆ
ความน่าเชื่อถือก็ต้องลดลงแน่”
ม.เอกชนอ่วม นักเรียนแห่เข้า ม.รัฐภาคพิเศษ
ขณะที่ ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ
ผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว และ SMEs มหาวิทยาลัยหอการค้า กล่าวว่า
มีกลุ่มนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่หันไปเลือกเรียนยัง ม.รัฐฯ ที่เปิดหลักสูตร
โครงการพิเศษ เพิ่มขึ้น แม้จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายสูงกว่าภาคปกติก็ตาม
โดยเฉพาะถ้าเป็นสาขาหรือหลักสูตรที่ตรงกับ ม.เอกชน
เนื่องจากค่านิยมของประเทศไทยยังให้ความสำคัญกับชื่อเสียงของ ม.รัฐฯ อยู่
เว้นแต่คณะนั้นๆ ของ ม.เอกชนจะมีชื่อเสียงโดดเด่นกว่า ตัวอย่างเช่น
ม.หอการค้าโดดเด่นคณะบริหารธุรกิจ, ม.กรุงเทพ โดดเด่นคณะนิเทศศาสตร์
เป็นต้น
ส่วนของ
ม.หอการค้าในภาพรวมแม้จะมีอัตราส่วนเด็กที่เข้าศึกษาต่อเพิ่มขึ้นอยู่ที่
ประมาณ 7-8% แต่หากมองในส่วนของสาขาจะพบว่ามีหลายสาขาที่ได้รับผลกระทบ อาทิ
สาขาวิทยาศาสตร์, มนุษยศาสตร์ ก็ลดลง ซึ่งบางสาขาลดลงถึง 10%
จึงต้องปรับหลักสูตรโดยการเพิ่มทักษะให้เกิดความแตกต่าง เช่น สอนภาษาอังกฤษ
และมีความเชี่ยวชาญเชิงการท่องเที่ยวด้วย เป็นต้น
ขณะที่บริหารธุรกิจที่เป็นคณะที่มีชื่อของมหาวิทยาลัย
ยังคงมีอัตรานักเรียนที่เพิ่มขึ้นอยู่ ทั้งนี้ อยากให้มองภาพรวมว่าหาก
ม.รัฐเปิดรับนักศึกษาได้เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าก็จะส่งผลต่อม.เอกชนเป็นอย่างมาก
เช่น อดีตผู้ที่จบ ม.รัฐมีจำนวนประมาณ 40,000 -50,000 คน ขณะที่
ม.เอกชนรวมจบออกมา 100,000 กว่าคน หากมาแชร์ส่วนแบ่งก็จะส่งผลมาก
อีกทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏก็มีการเปิดสอนสาขาที่เหมือนกับ
ม.เอกชนมากขึ้นด้วย ก็จะเป็นอีกส่วนที่กระทบอยู่ในปัจจุบัน
เอกชนชู “จุดเด่น-สร้างเอกลักษณ์”
คณบดีคณะบริหารธุรกิจ ผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว และ SMEs
มหาวิทยาลัยหอการค้า กล่าวต่อว่า
จากเดิมที่มหาวิทยาลัยเอกชนมีการแข่งขันกันอยู่แล้ว
ก็ส่งผลให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น
ซึ่งในระยะยาวด้วยภาวะการแข่งขันจะส่งผลให้หันมาหามาตรฐานให้เข้มแข็งมาก
ขึ้น และจะทำให้ ม.เอกชนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า ม.รัฐฯ อย่าง ม.หอการค้า
คณะบริหารธุรกิจ ได้มองไปสู่การผลิตนิสิตในมาตรฐานระดับสากล AACSB
International (The Association to Advance Collegiate Schools of
Business) เป็นสถาบันรับรองที่ได้รับการเชื่อถือมากที่สุด
อย่างไรก็ดี การที่ ม.รัฐฯ
เปิดรับนักศึกษาเพิ่มสูงขึ้นในรูปแบบต่างๆ นั้น จะมีผลกระทบต่อ ม.เอกชนใน 2
สถานะ กล่าวคือ 1. ม.เอกชนที่มีความเข้มแข็งก็จะเน้นไปที่จุดแข็ง จุดเด่น
2. ม.เอกชนที่ยังไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีจุดเด่น จุดแข็ง
ในบางพื้นที่ที่มีการแข่งขันรุนแรง หรือในบางจังหวัด
ก็อาจได้รับผลกระทบจนต้องปิดตัวลง เพราะจะไม่มีนักศึกษาเพียงพอ
ซึ่งไม่คุ้มที่จะเปิดทำการต่อ
นอกจากนี้ยังส่งผลถึงม.เอกชนที่เปิดขึ้นใหม่
จะมีความลำบากในการสร้างตัวมากขึ้น หากสังเกตจะพบว่า
ม.เอกชนที่เปิดใหม่จะสร้างเอกลักษณ์ของตน สร้างจุดยืนให้เห็นได้ทันที เช่น
มหาวิทยาลัยที่เน้นค้าปลีก, มหาวิทยาลัยที่เน้นพลังงาน ฯลฯ
จึงจะสามารถอยู่รอดในภาวะที่มีการแข่งขันสูงขึ้นได้ แต่หาก
ม.เอกชนที่ต้องการเปิดสาขาทั่วๆ ไปก็จะเกิดได้ลำบาก
“ในอนาคต ม.เอกชนจะมีการปรับตัวให้เข้มแข็งมากขึ้น
เหมือนดังประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งในระยะยาวจะเห็น ม.เอกชนมีชื่อเท่ากับ
ม.รัฐฯ ทั้งนี้ การศึกษาต้องดูแลตั้งแต่ระดับประถม จนถึงมหาวิทยาลัย
เป็นเรื่องสำคัญ และเร่งด่วนในการพัฒนาคุณภาพ"
|