สอศ.เผยปฏิทินสมัครเรียนปี 2556 พร้อมเดินหน้าเทียบโอนวิชาชีพ ปวช.-ปวส.ภายใน 8 เดือน
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยถึงนโยบายการรับนักเรียน นักศึกษา ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ประจำปีการศึกษา 2556 ว่า สอศ.มีนโยบายที่จะผลิตและพัฒนากำลังคนให้ตรงต่อความต้องการของประเทศ จึงได้กำหนดมาตรฐานการอาชีวศึกษาให้สามารถบริการทางการศึกษาในด้านวิชาชีพ สำหรับประชาชนวัยเรียน ตามความถนัดอย่างทั่วถึง โปร่งใส เสมอภาค และเน้นเข้าถึงการศึกษาด้านอาชีพแก่กลุ่มผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ โดยได้ให้สถานศึกษารับสมัครนักเรียน นักศึกษาในรูปของคณะกรรมการอาชีวศึกษาจังหวัด (อศจ.) พร้อมเปิดโอกาสให้หน่วยงานทางการศึกษาอื่นที่จัดการอาชีวศึกษา มีส่วนร่วมให้คำปรึกษาและเสนอแนะ เพื่อให้การรับนักเรียน นักศึกษาเป็นไปตามเป้าหมาย ทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ สอดคล้องกับศักยภาพของสถานศึกษาภายในจังหวัด และไม่กระทบต่อสถานศึกษาอาชีวะเอกชน โดยให้ อศจ.พิจารณาเห็นชอบแผนการรับนักเรียน นักศึกษาของสถานศึกษาแต่ละแห่ง ในด้านสาขาวิชาชีพและจำนวนนักเรียน นักศึกษาที่จะรับเข้าศึกษาต่อ คำนึงถึงการเพิ่มโอกาสให้แก่นักเรียน นักศึกษา ที่มีความตั้งใจเรียนสายอาชีพในระดับหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และระดับปริญญาตรี สายเทคโนโลยี หรือสายปฏิบัติการได้เข้าเรียนในสถานศึกษาสังกัด สอศ.จนจบการศึกษา
นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับปฏิทินการรับสมัครนักเรียน นักศึกษาอาชีวะในปีการศึกษา 2556 มีรายละเอียดดังนี้ ระดับ ปวช.ปี 1 รับสมัครวันที่ 15-19 มี.ค.56 ทดสอบความรู้และความถนัดด้านวิชาชีพ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาได้เรียนในวิชาชีพที่ถนัดและตามความต้องการ วันที่ 24 มี.ค. ประกาศผลสอบวันที่ 27 มี.ค. และมอบตัววันที่ 7 เม.ย.56 ระดับ ปวส.ปี 1 ให้สถานศึกษากำหนดวันดำเนินการให้ได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 24 พ.ค.56 ส่วนการรับนักเรียน นักศึกษาโควตาพิเศษ ให้สถานศึกษารับสมัครตั้งแต่เดือน พ.ย.55 และมอบตัวภายในวันที่ 17 มี.ค.56
ทั้งนี้ จากการที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดให้นักเรียนที่มีผลการเรียนตั้งแต่ 1.50 ขึ้นไป มีสิทธิ์เป็นนักเรียนในโควตาศึกษาต่อในระดับ ม.4 คาดว่าอาจจะส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้เข้าเรียนสายอาชีพบ้าง สอศ.จึงมีแนวทางเพิ่มจำนวนผู้เรียนสายอาชีพ โดยให้โควตาและยกระดับปรับปรุงคุณภาพการสอน พัฒนาอุปกรณ์การเรียน พัฒนาครู และแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ให้ทันสมัย ประสานกับกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานในระดับ ปวช. และปวส.
เลขาธิการ กอศ. กล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้ที่อยู่ในวัยทำงานหรือผู้ที่ทำงานแล้ว สอศ.มีนโยบายพัฒนาทักษะฝีมือ และยกระดับฝีมือให้กับผู้ที่ทำงานแล้ว คือจัดการศึกษาเทียบโอนความรู้และประสบการณ์สายอาชีพ ม.3 ให้ได้วุฒิ ปวช.หรือ ม.6 ให้ได้วุฒิ ปวส. จัดการศึกษาระดับ ปวช. 8 เดือน ให้กับผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการ และปรับปรุงช่วงเวลาการจัดการเรียนการสอนในสถานศึกษาสังกัด สอศ.ให้เอื้อต่อการศึกษาต่อของผู้ทำงานด้านวิชาชีพ เช่น สอนวันเสาร์-อาทิตย์ หรือนอกเวลาในวันหยุด เรียนทางระบบออนไลน์ รวมทั้งจัดระบบทวิภาคีในระดับปริญญาตรี ให้แก่ผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มปริมาณผู้เรียนอีกทางหนึ่ง
ที่มา: http://www.siamrath.co.th