สพฐ.จัดสอบ NT ทุกชั้นปีการศึกษา 2555

  เมื่อวันที่ 17 ต.ค.55 นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิด เผยผลการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า สพฐ.เตรียมจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับ
หลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินวิทยฐานะของครูสายผู้สอน และศึกษานิเทศก์ ซึ่งจะเป็นการประเมินแนวใหม่ที่เน้นประเมินสมรรถนะครู โดยจะเชิญนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ มาร่วมหารือ เพื่อทำหน้าที่ในการประเมิน ซึ่งระยะต้นจะเริ่มจากสาขาที่มีความพร้อมก่อน ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ โดยจะจัดขึ้นในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ต.ค. และคาดว่าเดือน พ.ย.จะได้ข้อสรุป เพื่อให้การประเมินวิทยฐานะแนวใหม่เป็นรูปธรรมมากที่สุด
     ขณะเดียวกันในปีการศึกษา 2555 สพฐ.จะจัดประเมินผู้เรียนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญ ที่จะนำมาใช้ในการประเมินวิทยฐานะของครูด้วย ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ต้องการให้มีการ ประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ (NT) ในทุกระดับชั้น โดยเฉพาะการศึกษาภาคบังคับ ตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม.3 ที่จะเน้นให้การประเมินผู้เรียนสอดคล้องกับพัฒนาการของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนแต่ละระดับชั้นได้มีพัฒนาการที่สอดคล้องกับช่วงวัย
     เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดประเมินผู้เรียนนั้น สพฐ.ไม่ต้องการให้นักเรียนชั้นประถมต้น มีภาระในการสอบมากเกินไป จึงกำหนดว่า ระดับชั้น ป.1-3 จะเน้นประเมิน 3 ด้าน คือ การอ่านออกเขียนได้ การคิดเลข และความสามารถด้านการคิดและการให้เหตุผล โดยเป็นการบูรณาการเนื้อหาของ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ไว้ด้วยกัน
     ระดับชั้น ป.4-5 จะประเมินผล 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษา และวิทยาศาสตร์ ระดับชั้น ม.1-2 จะเน้นประเมินผล 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET)
     ส่วนในระดับชั้น ป.6 และ ม.3 นั้น จะประเมินผู้เรียนจากการสอบ (O-NET) ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เป็นผู้จัดสอบ
     "ผล จากการประเมินผู้เรียนดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้แสดงเป็นผลงาน และความสำเร็จในการจัดการเรียนการสอนของครูได้ อย่างไรก็ตาม ในการจัดประเมินผู้เรียนในแต่ละปีที่ผ่านๆ มา ในระดับชั้น ป.2 ป.5 และ ม.2 นั้น สพฐ. ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายในการจัดสอบถึง 300 ล้านบาท ดังนั้น สพฐ.จึงจำเป็นที่จะต้องนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดสอบ เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่จะเป็นวิธีการใด และเริ่มใช้เมื่อไหร่นั้นคงต้องหารืออีกครั้ง" นายชินภัทร กล่าว
 
Credit   Manager.co.th