นายวีรวุฒิ ยอดเปลี่ยน นักศึกษา รฟท.พนักงานรถจักร ฝ่ายการช่างกล
มจธ. เร่งผลิตนักศึกษารถไฟ เสริมกำลัง รฟท. หลังทุ่มงบ 10 ล้าน พัฒนาสถาบันระบบรางภาคพื้นอาเซียน หวังลดงบประมาณ และอุบัติเหตุทางรถไฟ ต่อยอดประสบการณ์จากโจทย์ปัญหาจริงที่รอการแก้ไข
ผศ.ดร.กิติเดช สันติชัยอนันต์ อาจารย์ประจำภาควิชาครุศาสตร์โยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หัว หน้าโครงการความร่วมมือระหว่าง รฟท.-มจธ. กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2552 และเริ่มรับนักศึกษาในปีการศึกษาแรกคือปี 2553 โดยมีนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 36 คน และในปีการศึกษา 2554 มีนักศึกษารุ่นที่สองจำนวน 56 คน ภายใต้หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต ของคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มจธ.
"นอกจากนั้นยังมีศูนย์การศึกษาต่อเนื่อง (ศศต.) เข้าร่วมดำเนินงานกับโครงการ และได้รับความร่วมมือจากคณะวิทยาศาสตร์ และศิลปศาสตร์ โดยโครงการนี้รับสมัครบุคลากรใน รฟท.ที่มีวุฒิ ปวส. มาศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่ มจธ. เป็นเวลา 2 ปี ในสาขาเทคโนโลยีเครื่องกล สาขาเทคโนโลยีการก่อสร้าง สาขาเทคโนโลยีไฟฟ้า" ผศ.ดร.กิติเดช กล่าว
ในปีการศึกษา 2555 มจธ.ได้เปิดหลักสูตรใหม่คือ สาขาเทคโนโลยีการจัดการ (การเดินรถ) ซึ่งเป็น 4 หัวใจหลักของ รฟท. ภายใต้หลักสูตรที่ มจธ. ออกแบบ โดยพัฒนาต่อยอดหลักสูตรร่วมกับประสบการณ์ทำงานของคน รฟท. เพื่อพัฒนาศักยภาพ และทักษะในทุกด้านของนักศึกษาซึ่งเป็นบุคลากรของ รฟท.ให้สามารถนำความรู้ไปต่อยอดในการทำงานได้มากที่สุด ซึ่งนักศึกษาจะนำโจทย์ปัญหาที่พบระหว่างการทำงาน และยังไม่ได้รับการแก้ไขมาทำโครงงาน
นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ที่ผ่านว่า รฟท.ต้องการพัฒนาบุคลากรในหน่วยงานให้เป็นฐานกำลังสำคัญในการก่อตั้งและ พัฒนาสถาบันระบบรางภาคพื้นอาเซียน แต่ติดปัญหาคือสามารถรับบุคคลเข้าทำงานเพียงร้อยละ 5 ต่อปีเท่านั้น
"โครงการความร่วมมือเพื่อก่อตั้งและพัฒนาสถาบันพัฒนาระบบรางภาคพื้นอาเซียน” ที่เปิดโอกาสให้บุคลากรใน รฟท.ที่มีความรู้ประสบการณ์อยู่ในงานมาศึกษาเพิ่มเติม เป็นเวลา 2 ปี โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นผู้กำหนดหลักสูตร และรูปแบบการศึกษา ส่วน รฟท.เป็นผู้สนับสนุนทุนการศึกษาในทุกด้าน ซึ่งในแต่ละปีจะมีงบประมาณสำหรับทุนการศึกษาปีละ 10 ล้านบาท ซึ่งปีการศึกษา 2555 นี้ได้จัดต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 2 แล้ว" ผู้ว่าการ รฟท.กล่าว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์