เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ได้รับความสนใจจากบรรดานักเรียน และผู้ปกครอง หลังจากเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) "นายชินภัทร ภูมิรัตน" เปิดเผยผลการหารือร่วมกับผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง และผู้
บริหารสถานศึกษาที่มีอัตราการแข่งขันสูงทั่วประเทศ เพื่อยกร่างนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประจำปีการศึกษา 2556ข้อสรุปเบื้องต้นของการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนชั้น ม.1 และ ม.4 ในปีการศึกษาหน้า ใช้คะแนนสอบ 80% และคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) 20% รวมถึง ที่ประชุมยังเห็นตรงกันอีกว่าจะเพิ่มการสอบวิชาภาษาอังกฤษ 10% จากสัดส่วนข้อสอบ 80% ในการสอบชั้น ม.1 และ ม.4 ที่จากเดิมสอบเฉพาะภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสังคมศึกษา โดยให้เหตุผลเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558
นายชินภัทร บอกว่า ในปี 2556 จะรับนักเรียนชั้น ม.3 เข้าเรียนต่อชั้น ม.4 ให้มากขึ้น โดยให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงไปจัดทำแผนการรับนักเรียน และให้คัดเลือกนักเรียนชั้น ม.3 เดิมที่มีศักยภาพที่เหมาะสมเข้าเรียนต่อชั้น ม.4 แต่ต้องอยู่ภายใต้ 3 เงื่อนไข ได้แก่
1. นักเรียนชั้น ม.3 เดิมจะต้องมีคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) ตั้งแต่ 2.00 ขึ้นไป
2. หากนักเรียนชั้น ม.3 เดิม มีคะแนน GPAX ต่ำกว่า 2.00 แต่สูงกว่า 1.50 ขึ้นไปจะได้รับโอกาสทดสอบประมวลความรู้ระดับชั้นมัธยมต้น
และ 3. นักเรียนที่มีความสามารถเฉพาะทาง และสร้างชื่อเสียงให้แก่โรงเรียนต้องได้รับการรับรองจากครูที่รับผิดชอบ และต้องมีคะแนน GPAX สูงกว่า 1.50 ขึ้นไป
ขณะเดียวกัน เลขาธิการ กพฐ. ยังสั่งการให้โรงเรียนแต่ละแห่งกลับไปพิจารณาและจัดทำแผนการรับนักเรียน โดยเปิดช่องการรับนักเรียนชั้น ม.3 จากโรงเรียนอื่นเข้าเรียนต่อชั้น ม.4 ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20% ของแผนการรับนักเรียน
ส่วนการรับนักเรียนชั้น ม.3 ในโรงเรียนเดิมขึ้นชั้น ม.4 ให้โรงเรียนทำแผนว่าจะรับได้เท่าไหร่ ซึ่งสัดส่วนนี้คิดเป็น 100% ซึ่งสัดส่วนการรับนักเรียนชั้น ม.4 จะรวมแล้วอยู่ที่ 120%
อย่างไรก็ตาม สพฐ. เน้นย้ำว่าการรับนักเรียนชั้น ม.3 เดิมขึ้นชั้น ม.4 จะไม่ใช่การเลื่อนชั้นอัตโนมัติ และไม่ใช่ทุกคนจะได้เข้าเรียนชั้น ม.4 แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนที่ สพฐ. กำหนด แต่โรงเรียนสามารถขอขยายการเพิ่มห้องเรียนได้ แต่ต้องไม่เกิน 50 คนต่อห้อง และการขอขยายห้องเรียนเพิ่มต้องมีศักยภาพในการบริหารจัดการ อาทิ ครูผู้สอนด้วย
เชื่อว่าหลายๆ คนคงจำเหตุการณ์ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กรณีกลุ่มนักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ชั้น ม.3 และอีกหลายโรงเรียนออกมาประท้วง โดยเฉพาะนักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชาถึงขั้นประกาศอดข้าวอดน้ำ หลังจากไม่สามารถเข้าเรียนชั้น ม.4 โรงเรียนเดิม พร้อมทั้งแฉว่ามีการเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะจนพวกเขาเข้าเรียนไม่ได้ และเรียกร้องให้ปรับเกณฑ์และวิธีการสอบเข้าชั้น ม.4 ใหม่
จากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นสาเหตุหลักให้ สพฐ. ต้องทบทวนหลักเกณฑ์การรับนักเรียนใหม่ แต่เมื่อ สพฐ. ได้เปิดเผยร่างนโยบายการรับนักเรียนฉบับใหม่ออกมา ก็มีทั้งเสียงสนับสนุน และเสียงคัดค้านโดยนักวิชาการที่ออกมาคัดค้านอย่างเช่น "นายสมพงษ์ จิตระดับ" อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความกังวล และอยากให้ สพฐ. ทบทวนหลักเกณฑ์การรับนักเรียนในบางประเด็นใหม่ และคำนึงถึงผล กระทบที่ตามมา
"ไม่เห็นด้วยกับร่างนโยบายดังกล่าว เพราะดูแล้วเป็นการเปิดช่องว่างให้แต่ละโรงเรียนรับนักเรียนได้ถึง 120% มองว่าในส่วนโรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง และโรงเรียนชื่อดังทั้งหลายจะยิ่งมีปัญหา เพราะจะดึงนักเรียนนอกพื้นที่จากโรงเรียนขนาดกลาง และขนาดเล็กเข้ามาเรียน เพราะค่านิยมส่วนใหญ่ต้องการเรียนโรงเรียนดัง แน่นอนว่าในอนาคตทำให้จำนวนโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มจำนวนมากขึ้นอีก" นายสมพงษ์บอก
นอกจากนี้ นายสมพงษ์มองอีกว่าการเปิดช่องให้ขยายห้องเรียนห้องละ 50 คน และสามารถเปิดตามความต้องการของโรงเรียนนั้น จำนวนนักเรียนจะมากเกินความรับผิดชอบครูที่จะสอน เพราะปัจจุบันหลายโรงเรียนประสบปัญหาขาดแคลนครู ซึ่งจะทำให้การเรียนการสอนยิ่งไม่มีคุณภาพเข้าไปอีก ที่สำคัญ นโยบายดังกล่าวทำให้เด็กเข้ามาเรียนสายสามัญมากเกินไป ยิ่งส่งผลกระทบต่อจำนวนนักเรียนสายอาชีวศึกษา ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาปริมาณการรับสมัครสายอาชีวะน้อยกว่าเป้าตลอด ซึ่งในความเป็นจริงการเรียนจบ ม.6 และเข้าศึกษาต่อปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย ปัจจุบันจบแล้วตกงานเป็นจำนวนมาก
ส่วนมุมมองฝั่งสนับสนุนอย่าง "นายสรายุทธ ฟูทรัพย์นิรันดร์" ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า บอกว่า เห็นด้วยที่เปิดกว้างรับนักเรียนชั้น ม.3 จากโรงเรียนเดิมขึ้นชั้น ม.4 ให้มากขึ้น ส่วนนโยบายให้นักเรียนชั้น ม.1 และชั้น ม.4 สอบวิชาภาษาอังกฤษเพิ่มนั้นเป็นเรื่องดี เชื่อว่าที่ผ่านมาโรงเรียนสอนตามหลักสูตรอยู่แล้ว
ขณะที่ความเห็นของหนึ่งในคณะกรรมการยกร่างแนวปฏิบัติดังกล่าว "นางจำนงค์ แจ่มจันทรวงษ์" ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีวิทยา มองว่า เห็นด้วยแน่นอน เพราะในส่วนของโรงเรียนสตรีวิทยารับนักเรียนชั้น ม.3 ขึ้นชั้น ม.4 เกือบ 100% อยู่แล้ว โดยกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำว่านักเรียนต้องมีเกรดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 2.00 ส่วนการสอบคัดเลือกนักเรียนชั้น ม.1 และชั้น ม.4 โดยให้สอบวิชาภาษาอังกฤษเพิ่มนั้นดี
"แต่รู้สึกเป็นห่วงชั้น ม.1 เพราะโรงเรียนประถมศึกษาแต่ละโรงมีความเข้มเรื่องการเรียนการสอนภาษาอังกฤษต่างกัน ดังนั้น เมื่อให้คะแนนสอบภาษาอังกฤษด้วย อาจเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ"
ด้านผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย "นายเชิดศักดิ์ ศุภโสภณ" ก็เห็นด้วยกับแนวทางการรับนักเรียนฉบับใหม่ และเชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะนักเรียนของโรงเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กหัวกะทิ เกรดเฉลี่ยอยู่ที่ 3.00 ขึ้นไป อีกทั้ง จำนวนนักเรียนชั้นมัธยมต้นน้อยกว่ามัธยมปลาย จึงไม่น่าจะมีปัญหา
"ขณะนี้เรากำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หากเด็กไม่ได้ภาษาอังกฤษ อาจจะมีปัญหา การที่ สพฐ. ประกาศออกไปว่าจะสอบภาษาอังกฤษในการสอบชั้น ม.1 และชั้น ม.4 ทำให้โรงเรียนตื่นตัวตั้งแต่ประถมศึกษา" นายเชิดศักดิ์กล่าว
ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกปีที่ผ่านมาการรับนักเรียนไม่ว่าเข้าชั้น ม.1 หรือชั้น ม.4 ต้องมีเรื่องวุ่นวายตลอด ทั้งการร้องเรียนเรื่องเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะ ห้องเรียนแน่นเกินไป ครูสอนไม่เพียงพอ ดังนั้น หวังว่าปรับปรุงแนวทางการรับนักเรียนครั้งนี้ ผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ สพฐ. จะนำข้อเสนอต่างๆ ไปขบคิด และใช้เป็นแนวทางเพื่อให้นโยบายที่เกิดประโยชน์ และเป็นธรรมกับทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ไม่ใช่โรงเรียนใดโรงเรียนหนึ่งเท่านั้น ที่สำคัญ หวังว่าการรับนักเรียนชั้น ม.1 และชั้น ม.4 ในปี 2556 จะไร้ซึ่งความวุ่นวาย รวมถึง นโยบายรับนักเรียนในปีต่อๆ ไป จะไม่เปลี่ยนอีก เพราะต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายทุกปีไม่ใช่สิ่งที่ดี เพราะไม่เช่นนั้น เป้าหมายที่ สพฐ. วาดฝันไว้ว่าภายใน 3 ปี จะเร่งพัฒนาการศึกษาไทยทั้งระบบให้มีคุณภาพ และทัดเทียมนานาประเทศ เพื่อรองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ก็ยังคงเป็นแค่ความฝันต่อไป!!
ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์