นาย สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้หารือร่วมกับนายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์
ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)
และนายชินภัทร ภูมิรัตน
เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)
เกี่ยวกับการออกข้อสอบในการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต)
และการสอบประเมินคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อการประกันคุณภาพผู้เรียน
(National Test : NT) โดยตนได้เสนอให้ปรับรูปแบบการออกข้อสอบใหม่
จากเดิมที่คัดเลือกครูมาหนึ่งกลุ่มมาช่วยกันออกข้อสอบ
ต่อไปจะให้ครูที่สอนวิชาต่างๆ ทั่วประเทศเป็น ผู้ออกข้อสอบ
และส่งให้คณะทำงานซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาต่างๆ
เป็นผู้คัดเลือกข้อสอบที่จะนำมาใช้สอบต่อไป วิธีนี้จะทำให้มีข้อสอบจำนวนมาก
เพื่อนำมาเก็บไว้ในคลังข้อสอบที่ สทศ.จัดตั้งขึ้น
คาดว่าเรื่องนี้น่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปีนี้"ผมจะเปิดโอกาสให้ครูทุกคน ทุกโรงเรียน มีโอกาสออกข้อสอบ เช่น ข้อสอบวิชาภาษาไทย ชั้น ม.6 จะให้ครูที่สอนภาษาไทย ชั้น ม.6 ทุกคนได้ออกข้อสอบ และส่งข้อสอบมาที่คณะทำงานเพื่อคัดเลือก โดยข้อสอบของเพื่อนครูคนใดได้รับคัดเลือก จะได้ค่าตอบแทนด้วย โดยข้อสอบทุกข้อจะถูกเก็บเป็นความลับ ไม่ให้รั่วไหลอย่างแน่นอน วิธีนี้จะทำให้มีข้อสอบ 5-6 แสนข้ออยู่ในคลังข้อสอบ เพราะถ้าใช้รูปแบบเดิมที่ให้ครูเพียง 50-60 คนออกข้อสอบ จะได้ข้อสอบเพียงไม่กี่ข้อ" นาย สุชาติกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงการปรับรูปแบบการออกข้อสอบ เป็นเพราะที่ผ่านมา สทศ.ออกข้อสอบยากเกินไปหรือไม่ นายสุชาติกล่าวว่า ตนมักคิดอะไรใหม่ๆ และเป็นระบบเสมอ ซึ่งรูปแบบใหม่นี้เป็นเพียงข้อเสนอที่ได้มอบให้นายสัมพันธ์และนาย ชินภัทรไปพิจารณา เพราะรูปแบบนี้อาจมีข้อจำกัดอื่นได้
นาง อุทุมพร จามรมาน อดีตผู้อำนวยการ สทศ.กล่าวว่า แนวคิดนี้ถือเป็นรูปแบบที่ดี ที่จะให้ครูทุกคนมีส่วนร่วมในการออกข้อสอบ แต่ผู้ที่คัดเลือกข้อสอบอาจเหนื่อย เพราะต้องใช้เวลาคัดเลือกนานขึ้น ทั้งนี้ จากประสบการณ์การออกข้อสอบที่ผ่านมา ที่ได้มอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นผู้คัดเลือกครู 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ กลุ่มละประมาณ 15-20 คน มาร่วมออกข้อสอบนั้น ปรากฏว่าผู้เชี่ยวชาญที่คัดเลือกข้อสอบ พบว่าข้อสอบที่ให้ครูออกใช้ได้เพียง 23% เท่านั้น ที่เหลือใช้ไม่ได้เลย เพราะเป็นข้อสอบที่ไม่ลึกพอ ออกตรงเกินไป บางคนออกข้อสอบผิด การกำหนดตัวเลือกกับตัวลวงไปคนละทิศละทาง ที่สำคัญข้อสอบที่ออกมาส่วนใหญ่จะเน้นความจำค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม หาก ศธ.ประกาศใช้นโยบายนี้ก็น่าจะทดลองให้ครูทั่วประเทศได้ออกข้อสอบ ส่วนผลจะเป็นอย่างไรต้องรอพิสูจน์ต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน