"ยุคอาเซียน-ยุคโลกาภิวัตน์
เราจะกลายเป็น "เกาะ" ที่โดดเดี่ยว 64 ล้านคน
และไม่พร้อมที่จะสื่อสาร หรือเชื่อมต่อกับใครได้"
เราจะกลายเป็น "เกาะ" ที่โดดเดี่ยว 64 ล้านคน
และไม่พร้อมที่จะสื่อสาร หรือเชื่อมต่อกับใครได้"
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จัดสัมมนา "Thailand Human Vision 2020"
โดยดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ปาฐกถานำ เรื่อง
"ทิศทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ใน 10 ปี ข้างหน้าของประเทศไทย" ณ หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ดร.สุรินทร์ กล่าวว่า อาเซียนเราเริ่มต้นโดยมีทุนทางการเมือง ทุนทางสังคม และทุนทางจิตวิทยา สูงกว่าคนอื่น ซึ่งมหาเธร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย บอกว่า การที่ประเทศไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครนั้น เป็นจุดแข็ง และจุดขาย อีกทั้งเป็นจุดที่สามารถที่จะใช้ในการเป็นผู้นำให้กับคนอื่นได้ แต่เราเองกลับใช้เป็นข้อแก้ตัว ว่า ที่เราภาษาอังกฤษไม่ดี เพราะว่าเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร โดยข้ออ้างนี้ก็ยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน
" ในยุคโลกาภิวัตน์ และยุคของอาเซียน สิ่งที่จำเป็นต้องมีมากที่สุดคือ ความสามารถในการแข่งขัน นั่นคือ ความเชี่ยวชาญ เก่งกาจ ทักษะในวิชาชีพของตนเอง และสามารถจะสื่อสารให้คนอื่นเข้าได้ว่า นั่นคือทิศทางและทางเดินที่จะต้องเดินร่วมกัน
ยุคนี้มนุษย์ จะต้องเตรียมไว้สำหรับ 3-4 อาชีพ เพราะจะไม่มีใครเป็นนักบัญชีตลอด 40 ปีของชีวิตการทำงานอีกต่อไป จะไม่มีใครเป็นผู้บริหารทางด้านธุรกิจเอกชนตลอดไป ทุกอาชีพจะมีการโอกาสเปลี่ยนงาน เพราะโอกาสจะมีมากขึ้น ปัญหาจะซับซ้อนมากขึ้น ชีวิตคนจะยาวขึ้น วิทยาศาสตร์ วิทยาการทางด้านสาธารณสุขจะทำให้คนอยู่ได้"
สำหรับการเตรียมคนเพื่ออาชีพเดียวนั้น เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า อาจจะไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในประชาคมอาเซียน และในยุคโลกาภิวัตน์ การที่จะเลือกอยู่อาชีพเดียวไปตลอดชีวิตเป็นตัวเลือกที่แต่ละบุคคลเลือกเอง แต่สิ่งที่สถาบันการศึกษาต้องเตรียม คือ ต้องให้มีตัวเลือกอื่นๆ ด้วย นั่นคือการเตรียมคน เพื่อ Multi Touch skill จริงๆ
"แนวคิดเรื่องการศึกษาตลอดชีวิต หมายถึงการศึกษาเพื่อเปลี่ยนทิศทางของชีวิตตัวเอง หมายความว่า เมื่ออายุ 50 ปีอยากที่จะเปลี่ยนไปเรียนกฎหมาย ก็สามารถไป เรียนได้ หรือ อายุ 45 ปีอยากเรียนบัญชีก็เรียนได้ เราต้องคิดว่า อะไรที่จะใส่เข้าไปในสมองของลูกศิษย์ของเราได้ แน่นอนว่า ไม่ใช่การแค่ จำตัวเลข หรือข้อมูล หรือจำปี พ.ศ. หรือแม้แต่ชื่อคน เพราะทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในโทรศัพท์มือถือหมดแล้ว
ฉะนั้นสิ่งที่ต้องใส่เข้าไปในสมองของเด็ก ก็คือความพร้อมในการปรับตัว สอนให้วิเคราะห์ ให้วิพากย์ และสังเคราะห์ ซึ่งพูด ง่ายกว่าทำ"
ดร.สุรินทร์ ยกตัวอย่าง โรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร ชั้น ม.4 โดยอาจารย์ 4 คนให้เด็กทำการบ้านชิ้นเดียวเกี่ยวกับ เรื่องเรือไททานิค (Titanic) โดยที่ อาจารย์ภาษาอังกฤษ จะตรวจเฉพาะภาษาอังกฤษ 10 หน้าที่เด็กเขียน ในขณะที่อาจารย์สอนสังคมก็จะให้เด็กวิเคราะห์ชนชั้นของผู้โดยสารในเรือไททา นิค รวมถึงวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน
"สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กได้ค้นหา ข้อมูล และเขียนเป็นรายงานออกมาได้อย่างบูรณาการ"
ในขณะที่โรงเรียนแห่งหนึ่งยังคงสอนให้เด็กจำ พ.ศ. และสถานที่ เป็นข้อสอบปรนัย ถามว่า แล้วเด็กได้อะไร เพราะเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่จะช่วยเตรียมตัวเพื่อความเปลี่ยนแปลง หรือเพื่อชีวิตที่สลับซับซ้อนมากขึ้นในโลกยุคอาเซียน และยุคโลกาภิวัตน์
"เราอยากให้คนของเรามีตัวเลือกที่จะเลือกได้ เมื่ออายุ 35 หรือ 40 ปี เพราะถ้าถูกบังคับให้เป็นนักกฎหมายอยู่อย่างนั้นทั้งๆที่เบื่อแล้ว คุณภาพการทำงานก็จะต่ำลงมา แต่ทั้งนี้ถ้าจะไม่เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนอาชีพ สิ่งที่ต้องทำ คือ เรียนรู้ที่จะทำหลายๆหน้าที่พร้อมกัน และทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้"
Multi Touch skill คือการเตรียมตัวที่จะเข้าไปสู่ยุคโลกาภิวัตน์และอาเซียน
สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง เลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า คือ ความสามารถที่จะสื่อสาร เพราะต่อไปนี้เราจะไม่พูดกับคนแค่ 64 ล้านคน แต่เราต้องพูดคุยกับคน 600 ล้านคน ในเมื่อเราบอกว่า เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร ทำให้เราพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ แต่ขณะนี้ด่านหน้าของการทำสงครามการทำการค้าและเศรษฐกิจนั้นอยู่นอกประเทศ ทุกระบบเศรษฐกิจยุคโลกาภิวัตน์ต้องไปโตนอกประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลี ก็ไปโตอยู่นอกประเทศแล้วส่งรายได้กลับเข้ามาในประเทศ
ฉะนั้นไม่มีทางเลือกสำหรับประเทศไทย ไม่มีทางเลือกสำหรับเศรษฐกิจไทย ไม่มีทางเลือกภาคเอกชนไทย ต้องออกไปข้างนอก
แต่ก่อนจะออกไปก็ต้องมีการจัดทัพ ซึ่งเราต้องมองย้อนกลับที่สถาบันการศึกษา ที่เป็นแหล่งผลิตคนให้ทัพเหล่านี้ แต่ทว่าคนที่ผลิตออกไปนั้นมีความพร้อม และสามารถที่จะไปเจรจา ต่อรอง ตรวจสอบ หรือทำการตกลงซื้อขายกิจการ ควบรวม ชวนคนมาร่วมลงทุนร่วมกันเรา ทั้งหมดต้องใช้ทักษะทางด้านการสื่อสาร แต่คนไทยยังไม่อยากแสดงออก ไม่อยากต่อรอง ไม่อยากเผชิญหน้า
ฉะนั้นทั้งภาษาและทักษะการสื่อสารต้องมี ประเด็นนี้ไม่เคยเป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะเราเจรจาแต่ภายใน จะซื้อจะขายเฉพาะภายใน
"เราต้องพร้อมที่จะออกไปข้างนอก เพราะเป็นด่านหน้าที่เราต้องออกไป ซึ่งถ้าไม่ออกไปปกป้องผลประโยชน์ก็ไปเพิ่มพูนผลประโยชน์ของเราได้ แต่ปัญหาคือภาษาต่างประเทศอื่นๆ ที่นอกเหนือจากภาษาอังกฤษ เช่น ภาษามาเลย์ ที่คนกว่าครึ่งของอาเซียนพูดภาษานี้
ในขณะนี้พบว่า คนพม่าเรียนปริญญาโทภาษาไทยมากกว่าคนไทยเรียนภาษาพม่า เพราะเหตุผลที่ของคนไทยว่า อยู่ใกล้ครอบครัวอบอุ่นกว่า จึงไม่อยากออกไปข้างนอก"
แต่ในโลกยุคอาเซียนและยุคโลกาภิวัตน์จะไม่อนุญาตให้เราคิดอย่างนั้นได้อีกต่อไป เราจะกลายเป็น "เกาะ" ที่ โดดเดี่ยว 64 ล้านคน และไม่พร้อมที่จะติดต่อสื่อสาร หรือเชื่อมต่อกับใครได้ และจุดแข็งที่เราไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครนั้นก็จะกลับกลายมาเป็น "จุดอ่อน" คือ ยังไม่อยากจะเป็นเมืองขึ้นของใครตลอดไป และเราก็ไม่สามารถที่จะให้ภาษาของเราเป็นภาษาที่ยอมรับโดยทั่วไปได้
"เราจำเป็นที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่น ความต่อเนื่อง เสถียรภาพ ความมั่นคงให้เกิดขึ้นในการจัดระบบระเบียบโครงสร้าง ภายในของเรา ภาคเอกชนมีความแก่กล้ามากๆ ที่จะสามารถทะลุทะลวงตลาดไหนก็ได้ เนื่องจากมีเทคโนโลยีที่เพียงพอ วิธีการบริหารจัดการก็ไม่แพ้คนอื่น
แต่ปัญหาคือ ต้องการนโยบายที่ต่อเนื่อง มีนิติธรรม และความชัดเจนของกฎหมาย ที่สำคัญคือ ความผูกพันที่มีกับกฎหมาย ที่เมื่อลงนามแล้วต้องมีการปฏิบัติ ซึ่งถ้าไม่ต่อเนื่อง มั่นคง และยั่งยืน โดยที่มีการเปลี่ยนปรับตลอดเวลา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม จะทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขัน และไม่สามารถที่จะวางแผนการลงทุนในระยะยาวได้"
ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงการลงทุนระยะยาวที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การวิจัย พัฒนา และการออกแบบความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเหล่านี้คือทางรอดของเศรษฐกิจไทย
"ภาคเอกชนมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว แต่ต้องการการสนับสนุน และการประคองของรัฐ ให้มีนโยบายที่ชัดเจน 0.24% ของรายได้ประชาชาติที่ใช้สำหรับการวิจัยนั้นยังน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลี ฉะนั้นเราจำเป็นจะต้องเป็นเมืองขึ้นทางปัญญา เราไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าทางปัญญา ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ สิทธิบัตร
ฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ต้องมีการลงทุน ต้องมีระเบียบวิธีที่ให้ภาคเอกชนสามารถเดินหน้าและมีความพร้อมในด้านนี้ การยกเว้นภาษี การให้ทุนเพื่อการวิจัย การส่งเสริมการวิจัย สิ่งเหล่านี้ต้องทำ
นอกจากนี้ยังต้องมีการผูกโยงระหว่าง ภาคอุตสาหกรรม การผลิต กับมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะกับคณะที่ทำการวิจัย เพื่อที่ผลการวิจัยจะได้สามารถนำไปใช้ ในทางปฏิบัติได้เลย
"โลกาภิวัตน์กับอาเซียน แม้เราจะบอกว่า ไม่ไปไหน แต่ทั้งสองอย่างก็ต้องเดินมาหาเราเอง ฉะนั้นเราต้องสามารถที่จะแข่งขันในเวที บนพื้นที่ของเราเองด้วย และต้องออกไปข้างนอกมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจทุกเศรษฐกิจจะต้องออกไปโตต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยตลาดอยู่ข้างนอก ทรัพยากรและแรงงานอยู่ข้างนอก"
ดร.สุรินทร์ กล่าวถึงปัจจัยเหล่านี้ เคยทำให้เราโต 7-8% ต่อเนื่อง แต่ทุกวันนี้ร่อยหรอลงทุกวัน ฉะนั้นความสามารถในการแข่งขันของเราในรูปแบบเดิมนั้นเปลี่ยนไปหมดแล้ว แต่เรายังอยู่ในระบบเดิม รูปแบบเดิม ซึ่งต้องระวังจะไปติดกับดักที่เรียกว่า Middle income trap หรือกับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ที่ประชากรมีรายได้ต่อคนต่อปีไม่ถึง 10,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ
ซึ่งขณะนี้ไทยมีรายได้ต่อหัวต่อคนต่อปีอยู่ 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น
"ประชาคมอาเซียนมาแน่ ในอีก 2 ปีครึ่ง ซึ่งประเทศอื่นกำลังจะก้าวพ้น แต่ก็ไม่ใช่ทุกประเทศ เราก็ไม่ได้ตามหลังคนอื่นมากนัก อยู่ในระดับกลางๆ แต่ที่แน่ๆ ถ้าไม่ลงทุนเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัย เราจะก้าวพ้นตรงนั้นได้ยาก เพราะในที่สุดแล้วเราผลิตแบรนด์ของคนอื่นขายให้คนอื่น แทนที่จะผลิตแบรนด์ของตัวเองขายให้คนอื่น"
ที่มา - สำนักข่าวอิศรา