สพฐ.ลดตารางเรียนชี้ O-NET จบช่วงชั้นผลขี้เหร่ฉุดเกรดตก

      เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.55 นาย ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า
ขณะนี้สพฐ.กำลังจัดทำแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ เพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบัน โดยมอบให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นหน่วยงานวิจัย และจัดทำข้อเสนอ ซึ่งมีประเด็นการปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานและตารางเรียน ที่มีนัยว่าต่อไปนักเรียนอาจจะเรียนเนื้อหาภาคบังคับน้อยลง คล้ายกับการเรียนในสหรัฐอเมริกา ที่ สพฐ.ได้ไปดูงาน พบว่าการจัดการเรียนการสอนระดับขั้นพื้นฐาน จะมีสัดส่วนของหลักสูตรที่เป็นแกนภาคบังคับเฉพาะช่วงชั้นต้นๆ หรือระดับประถมศึกษาและเมื่อช่วงชั้นปลายระดับมัธยมศึกษาจะมีความยืดหยุ่น มากขึ้น คือจะเรียนวิชาแกนภาคบังคับน้อยลง สิ่งนี้เป็นข้อคิดว่าจะต้องมีการทบทวนหลักสูตรที่เป็นแกนกลางภาคบังคับของ ไทยให้น้อยลง ส่วนตารางเรียนนั้นขึ้นอยู่กับข้อเสนอของทีดีอาร์ไอ ว่าจะต้องปรับให้น้อยลงหรือไม่ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบชั่วโมงการเรียนของไทยกับประเทศอื่นต้องยอมรับว่า นักเรียนไทยมีชั่วโมงการเรียนมาก โดยเด็กเล็กๆ อาจจะเรียน 8 วิชา และจำนวนคาบค่อนข้างเยอะ ดังนั้นต้องปรับให้น้อยลง
          นาย ชินภัทร กล่าวต่อว่า ส่วนความคืบหน้าของการนำผลคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) มาใช้ในการจบระดับชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 ในปีการศึกษา 2555 นั้น ขณะนี้ สพฐ.ได้จัดทำร่างประกาศและรอชี้แจงนายสุชาติธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ โดยร่างประกาศที่จัดทำนั้น จะให้ใช้คะแนนรวม O-NET 20% เป็นส่วนในการตัดสินผลการเรียนของนักเรียน ตามหลักสูตรแกนกลางซึ่งจะนำไปรวมกับผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) และคิดออกมาเป็นผลการเฉลี่ยสะสม ทั้งนี้แม้คะแนน O-NET จะไม่มีผลต่อการจบระดับชั้น แต่หากนักเรียนได้คะแนนไม่ดีก็จะทำให้คะแนน GPAX ลดลงได้ ดังนั้นนักเรียนก็ยังต้องตั้งใจเรียนและทำคะแนน O-NET ให้ดี


ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ