ดร.อาจอง มองแจก‘แท็บเล็ต”เบ้าหลอมสร้างเด็กหุ่นยนต์

การ แจกแท็บเล็ตให้เด็กประถมฯ ถูกมองจากบรมครูอย่างดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ว่าจะส่งผลปิดกั้นจินตนาการและความสามารถคิดวิเคราะห์ของเด็ก ขณะที่ครูภาษาไทย ห่วงกระทบพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก ไม่เชื่อส่งเสริมการศึกษา
เป็นเพียงแค่โฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองแค่นั้น
     
       แม้ไม่ต้องอ้างอิงถึงผลวิจัย‘โครงการนำร่องการประยุกต์และบูรณาการ คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเพื่อการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษาตามแนวนโยบายของ รัฐบาล ระยะที่ 1’ ที่ดำเนินการศึกษาโดยทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ซึ่งแถลงผลสรุปต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 11 พ.ค. ว่าการแจกแท็บเล็ตให้เด็ก ป.1 นั้นไม่คุ้ม
       UploadImage
       แต่ทัศนะจากสามัญสำนึกของ ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา นักการ ศึกษาที่ทุ่มเทความรู้และคุณธรรมให้เด็กๆ มาอย่างยาวนาน ก็กล้าหาญพอที่จะวิพากษ์นโยบายแจกแท็บเล็ตของรัฐบาลได้อย่างตรงไปตรงมา มากกว่าตัวเลขเชิงสถิติและคำอธิบายเชิงหลักการของงานวิจัย
     
       เพราะในทัศนะของดร. อาจอง แท็บเล็ตถือเป็นเครื่องมือที่อาจทำให้เด็กกลายเป็นหุ่นยนต์ หาก ใช้อย่างไม่ระวัดระวังเด็กอาจเติบโตขึ้นมาโดยไม่ได้รับการปลูกฝังให้รู้จัก คุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เพราะแท็บเล็ตเป็นเพียงคอมพิวเตอร์ มิใช่มนุษย์ การมุ่งให้เด็กเรียนรู้หลักสูตรที่เหมือนกันผ่านคอมพิวเตอร์ จึงเป็นการปิดกั้นจินตนาการและปิดกั้นความสามารถด้านการคิด วิเคราะห์
     
       นับเป็นการวิพากษ์ที่ชัดเจนและตรงไปตรงมาโดยไม่จำเป็นต้องอ้างอิงงานวิจัย ซึ่งมุ่งศึกษาผลกระทบข้อดีข้อเสีย การใช้แท็บเล็ตของ 5 โรงเรียนนำร่อง ซึ่งเป็นการวิจัยอันมีเวลาแสนจำกัดจนแม้แต่ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดีของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒก็ยังออกมายอมรับว่ามิใช่งานวิจัย เกรดเอ ด้วยเงื่อนเวลาอันน้อยนิดและตัวอย่างที่จำกัดเพียงแค่โรงเรียนในเขตตัวเมือง อีกทั้งต้องเร่งสรุปผลเพื่อให้ทันกำหนดการเริ่มนโยบายของรัฐ เพราะเหตุนั้น ทัศนะที่ ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ให้ข้อคิดผ่าน “ASTV ผู้จัดการออนไลน์” คู่ขนานไปกับการแถลงผลวิจัยของมศว. จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง ในฐานะนักการศึกษารุ่นบรมครูที่วิพากษ์นโยบายการศึกษาของรัฐจากมุมมองของผู้ ทำหน้าที่ ‘ครู’ มายาวนานเกือบค่อนชีวิต
     
       นอกจาก ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา แล้ว ณัฐฎ์ประภา ชุณหะวัณ ครู ภาษาไทยของนักเรียนชั้นอนุบาล โรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่ง รวมถึง พันโท แพทย์หญิง กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี กุมารแพทย์ ประธานเครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ก็ร่วมแสดงความเห็นผ่าน “ASTVผู้จัดการออนไลน์” โดยวิพากษ์ถึงข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบต่างๆ ของนโยบายแจกแท็บเล็ตได้อย่างน่าสนใจ
     
       มอมเมาอนาคตของชาติ ด้วย ‘แท็บเล็ต’
     
       “เราปรารถนาที่จะให้เด็กทุกคนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ สามารถเขียนหนังสือด้วยลายมือที่ดี เพื่อที่จะสามารถสื่อสารกับคนอื่น ไม่ใช่ว่าเราจะถือแทปเล็ตไปทุกหนทุกแห่ง แต่เมื่อเราไปข้างนอก เราก็ต้องสามารถพูดคุยกัน เขียนโน๊ตถึงกัน เขียนจดจดหมายถึงกัน นี่เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็กแล็กๆที่จะต้องเรียนสิ่งเหล่านี้
     
       “เวลาเรียนอะไรก็ตาม เราไม่ควรให้เด็กเรียนเหมือนกันหมดทุกคน เพราะมนุษย์เราต้องสามารถคิดดัดแปลง คิดอะไรต่อมิอะไรได้ด้วยตัวของเราเอง หาความรู้ด้วยตัวของเราเอง จากแท็บเล็ตนี่เขาก็เตรียมมาให้หมดเลย เตรียมบทเรียนมาให้เหมือนกันหมด ทุกคนเรียนเหมือนกันหมด ซึ่งนี่เป็นวิธีการที่เราใช้สอนโรบอต สอนหุ่นยนต์ ให้หุ่นยนต์เรียนอย่างนี้ดี แล้วเราก็ป้อนข้อมูลให้หมดทุกอย่างโดยที่เด็กไม่ต้องไปหาข้อมูลแหล่งอื่นๆ เพียงเรียนตามข้อมูลที่หาได้จากแท็บเล็ต
     
       ดังนั้น ในความเห็นของ ดร.อาจอง จึงถือว่าแท็บเลต ควรจะทำหน้าที่เพียงเครื่องมือที่มาช่วยเสริม ไม่ใช่มาแทนหนังสือทั้งหมด เพราะในท้ายที่สุด เด็กก็ยังต้องรู้จักเข้าห้องสมุดเพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ ด้วยตนเอง
     
       “จริงอยู่ ในแท็บเล็ตนั้นก็มีหนังสือบรรจุไว้ตามหลักสูตรสำหรับเด็ก ป. 1 แต่แค่นี้ ไม่เพียงพอสำหรับเด็ก เพราะเราต้องให้เขาได้รู้จักคิดเอง หาความรู้ต่างๆ เอง ไม่ใช่ท่องจำจากเฉพาะสิ่งที่เราเตรียมไว้ให้เขา โลกของเรามันไม่ได้มีแค่ตามหนังสืออย่างเดียว มันยังมีอะไรต่ออะไรอีกหลายอย่างซึ่งเราต้องหัดเรียนรู้เอง
     
       “เพราะฉะนั้น เมื่อพูดถึง ‘การสอน’ เราต้องเข้าใจว่าเด็กไม่ใช่คอมพิวเตอร์ที่จะคอยรับข้อมูลตามที่เตรียมไว้ให้ เด็กจะต้องมีวิจารณญาณ เด็กจะต้องคิดได้เองว่าอันนี้ดี หรือไม่ดี ไม่ใช่ว่าทุกอย่างมาสอนให้เขาหมด แท็บเล็ตมีข้อมูลให้เด็กอ่านและทำตามอย่างเดียว ทั้งที่เด็กแต่ละคนไม่ควรจะคิดเหมือนกัน บางคนก็ถนัดอย่างหนึ่ง อีกคนก็อาจจะมีความถนัดอีกอย่างหนึ่ง
     
       “การสอนโดยใช้แท็บเล็ตนั้นจะทำให้เกิดความคิดเหมือนกันหมด ซึ่งเป็นวิธีการที่เราใช้ในการสอนหุ่นยนตร์ เราจะสอนแบบนั้นไม่ได้ เพราะหุ่นยนต์มันไม่รู้จักคิดเอง มันจะคิดตามทุกอย่างที่เราป้อนข้อมูลให้นะครับ แต่เด็กควรจะรู้จักคิดเอง เพราะเราไม่ใช่โรบอต เราไม่ใช่หุ่นยนต์ เราควรจะรู้จักที่จะก้าวไปตามเส้นทางที่เราต้องการ เด็กบางคนชอบบางอย่างก็ก้าวไปตามทางนั้น เด็กบางคนชอบอีกอย่างก็ต้องไปตามทางที่เขาชอบ แต่ถ้าเราสอนทุกอย่างเหมือนกันเด็กก็กลายเป็นหุ่นยนต์ที่ไม่รู้จักคิดเอง ไม่รู้จักวิ เคราะห์เอง ไม่รู้จักหาความรู้ด้วยตัวเอง ไม่รู้จักไปหาความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านหรือผู้หลักผู้ใหญ่ เพื่อแสวงหาความรู้เพิ่มเติม
     
       “แล้วถ้าเป็นแบบนี้ครูจะสอนอย่างไร? ครูก็ได้แค่ยิ้ม ปล่อยให้เด็กเล่นแท็บเล็ตไป ครูเกือบจะไม่ได้สอนอะไรเลย โดยที่เราลืมไปว่าเราต้องการให้เด็กเป็นศูนย์กลางการศึกษา ซึ่งการให้เด็กเป็นศูนย์กลางตามพระราชบัญญัติการศึกษาก็คือ เราต้องให้ความสำคัญกับเด็ก การให้เด็กเป็นศูนย์กลางหมายความว่าเราต้องเอาใจใส่เขา ให้เขารู้จักคิด รู้จักวิเคราะห์ เป็นตัวของตัวเอง เขาชอบอะไรก็ให้เขามุ่งไปทางนั้น ให้เขาพัฒนาตัวเขาเองในทางที่เขาชอบ ในทางที่เขาถนัด ดังนั้น การเป็นครู จึงควรพยายามให้เด็กคิดเอง หาความรู้เองในทางที่เขาชอบและครูก็มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติการศึกษาคือ ‘อำนวยความสะดวก ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้’ ไม่ใช่สอนแบบแทปเล็ต แต่เราต้องสอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ถ้าเราคอยกระตุ้นให้เขาคิดเอง เด็กจะฉลาด
     
       “เราไม่ได้ต้องการให้ทุกคนเหมือนกันบนโลกนี้ เราไม่ได้ต้องการประชากรที่เหมือนกันหมด การให้เด็กใช้แท็บเล็ต ทุกคนจะเหมือนกันหมด คิดแบบเดียวกัน เพราะฉะนั้น ผมไม่ค่อยเห็นด้วยนะครับ ที่ใช้แท็บเล็ต แต่เอาล่ะ ในฐานะที่ผมมีโรงเรียนและโรงเรียนผมก็ได้รับแท็บเล็ต แต่เราต้องใช้เป็นเครื่องมือ และต้องใช้อย่างระมัดระวัง เราจะใช้เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่ง เราจะยังคงให้เด็กหัดเขียน ไม่ใช่ใช้แท็บเล็ตอย่างเดียว เราจะยังคงพาเขาไปพบปราชญ์ชาวบ้าน พบผู้หลักผู้ใหญ่
     
       “เรายังคงสอนให้เขาอ่านหนังสือ ให้เขาหาความรู้จากหลายๆ คน จากหลายๆ แหล่ง ไม่ใช่หาความรู้เพียงแค่จากแท็บเล็ต เพราะกระทรวงฯ เขาใส่ข้อมูลทุกอย่างมาให้หมด เด็กไม่ต้องไปหาความรู้จากที่ไหน หาจากแค่ในแท็บเล็ต ซึ่งโลกของเราไม่ได้เป็นแบบนั้น เราไม่ควรหาความรู้จากแหล่งเดียวแต่เราต้องไปพบผู้หลักผู้ใหญ่ ไปหาปราชญ์ชาวบ้าน เราต้องค้นหาความรู้จากหลายๆ แหล่ง เพื่อ ให้เราเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้ โดยทั่วไปนี่คือความคิดเห็นของผม
     
       แจกแทปเล็ต ให้เด็ก ป.1 ไม่ช่วยพัฒนาการศึกษาไทย
     
       ใช่เพียงครูอย่าง ดร. อาจอง เท่านั้น ที่แสดงความกังวลต่อนโยบายแจกแท็บเล็ต ณัฐฎ์ประภา ชุณหะวัณ ครูภาษาไทยของนักเรียนชั้นอนุบาลก็มีมุมมองไม่ต่างกันนัก โดยเธอแสดงความเห็นว่า “เทคโนโลยีก็เป็นสิ่งที่ดี มีทั้งผลดีและผลเสีย การที่เด็กได้เรียนรู้ตั้งแต่ยังเด็กก็มีผลดี แต่ส่วนตัวแล้วคิดว่าการที่รัฐบาลจะแจกแท็บเล็ตให้เด็กไปเลย มันอาจจะไม่เหมาะกับวุฒิภาวะของเด็ก ป.1
      
UploadImage
       “เด็กในช่วงวัยนี้ร่างกายเขายังอยู่ในช่วงของพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็ก โดยเฉพาะนิ้วมือ ซึ่ง เด็ก ป.1 เขายังจับ ปากกา จับดินสอไม่ค่อยจะถูกเลย แล้วจะให้เขาเอานิ้วไปจิ้มๆ ๆ แทปเล็ต ขนาดเราเป็นผู้ใหญ่เอง ก็ยังมีปัญหาเมื่อใช้เทคโนโลยีพวกนี้มากเกินไป แล้วนี่เด็กเขาอยู่ ป.1 เอง จะให้เขาไปใช้เทคโนโลยีพวกนี้ กล้ามเนื้อเขาก็จะพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ดังนั้น เราควรจะหัดให้เขาเขียนหนังสือให้ดีก่อนไม่ดีกว่าหรือ? นอกจากนั้น ยังมีผลเสียต่อสายตาของเด็กอีก”
     
       ณัฐฎิ์ประภา เพิ่มเติมว่า การใช้แท็บเล็ตนั้นใช้ได้ แต่การจะให้ไปเลย เพิ่อใช้ได้ตลอดเวลานั้น ไม่เหมาะสมนัก เพราะเด็กๆ ไม่ได้ฝึกใช้กล้ามเนื้อมือในการเขียน ในการจับดินสอ ปากกาอย่างเต็มที่ การใช้เพียงนิ้วจิ้มหน้าจออาจไม่ช่วยกระตุ้นให้เกิดพัฒนาการทางกล้ามเนื้อ
     
       เธอจึงย้ำว่า “ไม่ควรแจกแทปเล็ตให้เด็กเอากลับบ้านไปเลย แต่ควรทำเป็นรายวิชา เป็นคาบเรียนหนึ่ง เมื่อถึงคาบก็มาเรียนกันโดยมีคุณครูคอยให้คำแนะนำ มีผู้เชี่ยวชาญมาสอน แบบนี้ดีกว่า แต่ถ้าให้เด็กไปเลย แล้วเด็กเขายังเล็กมาก เขาอาจจะทำหายก็ได้ และอะไรที่ได้มาอย่างง่ายๆ เขาก็อาจจะไม่สนใจ อาจทำพัง หรือทำตก ทำหาย ดังนั้น การแจกแท็บเล็ตก็เป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองมากกว่า สิ่งที่รัฐบาลกำลังทำ ไม่ใช่การส่งเสริมการศึกษาที่ถูกต้องเลย”
     
       ทัศนะจากกุมารแพทย์ ข้อดีมีอยู่ แต่อันตรายก็มีไม่น้อย
     
       ส่วน พันโท แพทย์หญิง กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี กุมาร แพทย์ ประธานเครือข่ายพ่อแม่เยาวชนเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ก็สะท้อนความเห็นต่อการแจกแท็บเล็ตให้เด็ก ป. 1 ในแง่มุมที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
     
       “ถ้ารัฐไม่เตรียมพร้อมให้ดีมันก็จะเกิดผลเสียต่อเด็ก เพราะสื่อทุกอย่างที่เด็กรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 เขาจะเรียนรู้หมด ไม่ว่าด้านดี-ด้านเสีย ถ้าเราไม่เตรียมพร้อมเด็กก็มีโอกาสที่จะได้รับการเรียนรู้ที่ไม่ถูกต้องและ ได้รับข้อมูลที่ไม่เหมาะสม เช่น อาจจะถูกล่อลวงผ่านอินเทอร์เน็ต อันนี้อันตราย นอกจากนั้น เรายังมองถึงผลกระทบอื่นๆ คือถ้าเด็กได้รับแทปเล็ตกลับบ้าน แล้วฟรีอินเตอร์เน็ตไหม? เป็นภาระกับผู้ปกครองหรือเปล่า? หรือถ้าไม่ฟรี ก็อาจจะมีคนได้รับประโยชน์จากการที่ผู้ปกครองต้องซื้อชั่วโมงอินเตอร์เน็ต
     
       “อีกประการหนึ่ง เมื่อเด็กได้รับแท็บเล็ตไปใช้แล้ว ในครอบครัวที่ผู้ปกครองยากจน เด็กก็สามารถใช้หาความรู้ ในด้านต่างๆ ที่เกิดประโยชน์มากแก่ครอบคัว คือถ้าใช้ให้เกิดประโยชน์ มันก็จะเกิดประโยชน์มาก ส่วนคุณครูเอง ก็ควรมีการอบรมว่าจะดูแลเด็กอย่างไร ควรจะมีทั้งคู่มือสำหรับผู้ปกครอง สำหรับครู และสำหรับเด็ก ในการใช้แท็บเล็ตอันนี้”
     
       แต่ไม่ว่าอย่างไร พันโทแพทย์หญิงกมลพรรณ ก็ยอมรับว่าถ้ารัฐเตรียมพร้อมมันจะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาลทั้งต่อเด็ก ต่อผู้ปกครอง และครู การเตรียมพร้อมนี้ก็หมายถึงการบรรจุเนื้อหา
     
       “กระทรวงไอซีทีบอกว่าจะเอาแต่หนังสือใส่เข้าไป แต่หมอมองว่าถ้าเด็กเขาสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้และมีอินเตอร์เน็ต การที่ผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง และครูเราไม่มีองค์ความรู้ แล้วปล่อยเด็กไว้กับเครื่องคอมพ์พิวเตอร์นั้นน่าเป็นห่วง เพราะจริงๆ แล้วโลกข้างนอกนั้นเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับเด็กในวัยเจ็ดขวบ คือจริงๆ แล้ว กล้ามเนื้อเขาพัฒนามาตั้งแต่ชั้นอนุบาล กระทั่ง 7 ขวบก็ยังต้องพัฒนาการด้านนี้อยู่มี
     
       “แต่สิ่งที่สำคัญคือเด็กควรได้เรียนรู้การเข้าสังคม เรียนรู้สังคม ไม่ใช่อยู่แต่ในโลกอินเตอร์เน็ตอย่างเดียว ดังนั้น ควรมีการอบรมผู้ปกครอง ว่าเด็กควรจะอยู่กับคอมพิวเตอร์นานเท่าไหร่? ซึ่งเวลาที่เหมาะกับเด็กนั้น อย่างมากสุดก็ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง แล้วยังต้องระมัดระวังกับ ‘คอมพิวเตอร์ซินโดรม’ (โรคที่เกิดจากการใช้คอมพ์พิวเตอร์มากเกินไป ) เช่น ถ้าแสงไม่พอ แสงสว่างไม่เหมาะสม จ้องหน้าจอในระยะใกล้เกินไป แบบนี้ก็เกิดผลเสียกับเด็ก กระทรวงไอซีทีก็ควรระบุไว้แจ้งข้อควรระวังให้ผู้ปกครองทราบอย่างละเอียด ซึ่งหากกระทรวงไอซีทีสามารควบคุมการใช้แทปเล็ตให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม อยู่ในช่องทางที่ถูกต้องก็จะเป็นประโยชน์มาก”
     
       นอกจากนั้น พันโท แพทย์หญิงกมลพรรณ ย้ำทิ้งท้ายว่า รัฐบาลควรประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้แก่ผู้ปกครองอย่างทั่วถึงและควรมี การร่วมมือกันในการวางหลักสูตรหรือกำหนดโปรแกรมต่างๆ ลงในแทปเล็ต โดยรัฐบาล กระทรวงไอซีที ควรขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม รวมทั้งควรเชิญกุมารแพทย์และจิตแพทย์ มาร่วมเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับหลักสูตรต่างๆ ในแท็บเล็ต เพราะลำพังกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงไอซีทีอาจไม่รู้ว่าหลักสูตรของเด็ก วัยไหน ควรเป็นอย่างไร แบบไหนจึงเหมาะกับพัฒนาการของเด็ก ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองที่มีความรู้ความเข้าใจในพัฒนาการของเด็กจึงควรมาร่วมกัน วิเคราะห์และวางแนวทางหลักสูตร ต่างๆ ในโปรแกรมที่บรรจุ และควรมีโปรแกรมสำหรับผู้ปกครองด้วย สำคัญที่สุด ก็ควรมีอินเตอร์เน็ตฟรีทั่วประเทศ เพื่อให้การใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง
     
       คุณค่าความเป็นมนุษย์ หาไม่ได้จาก ‘แทปเล็ต’
     
       สุดท้าย ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ก็ไม่ลืมฝากข้อคิดทิ้งท้ายเกี่ยวกับกรณีแท็บเล็ตว่า
     
       “เราคงต้องอบรมผู้ปกครองให้เขาเข้าใจถึงการพัฒนาเด็ก เพราะสิ่งที่เด็กต้องการที่สุดคือความรักความเมตตา แต่เล่นแทปเล็ตนั้นไม่ได้อะไร ถ้าเด็กเขาเล่นแต่แท็บเลต เล่นเกมในแท็ปเลต เล่นไปอยู่คนเดียว เขาจะขาดความอบอุ่น ขาดความรักความเมตตา เขาจะไม่เป็นมมนุษย์โดยสมบูรณ์ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ ต้องชวนเขามาเล่นด้วยกันและคอยสอนเพิ่มเติมในสิ่งที่แท็บเล็ตไม่ได้สอน และต้องมอบความรักความเมตตาให้เขา นี่เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ แท็ปเลตไม่ได้ให้สิ่งเหล่านี้ แต่คุณพ่อคุณแม่และคุณครูสอนได้ สอนให้เด็กมีความรักมีเมตตา คอยช่วยเหลือผู้อื่นๆ แทปเลตทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ มันไม่ได้สอนให้เรามีเมตตา มันเพียงแต่ให้ข้อมูลกับเราเท่านั้น
     
       “ในโรงเรียนของเรา เราต้องสอนให้เขาเข้าห้องสมุด ให้อ่านหนังสือ และคุณครูต้องคอยสังเกตพัฒนาการของเด็ก ถ้าเราใช้แท็บเล็ตอย่างเดียว แท็บเล็ตก็กลายเป็นศูนย์กลาง แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาใช้อย่างเหมาะสม?
     
       “ เด็กสมัยนี้ฉลาดมาก เขาอาจจะโหลดเกมมาเล่น และเล่นไปคนดียว โดยไม่สนใจใคร ผู้ปกครองอาจคิดว่า ‘แหม ดีจัง เด็กอยู่นิ่งๆ ไม่ซน’ แต่การพัฒนาการเพื่อโตเป็นผู้ใหญ่จะไม่สมบูรณ์แบบ เขาควรจะได้ทดลองนั่น ทดลองนี่ บางครั้งอาจจะต้องโดนพ่อแม่ดุ หรือว่ากล่าวสั่งสอน ต้องได้รับความอบอุ่น มีพ่อแม่พาไปเที่ยวเพื่อให้เขาได้ค้นพบอะไรด้วยตัวเอง แต่แทปเล็ตจะทำให้เด็กมัวติดอยู่กับแทปเล็ตไม่อยากออกไปไหน และสิ่งที่เราต้องระวังก็คือสายตาของเด็ก เพราะเด็กต้องจ้องมองจอตลอดเวลา จะทำให้เขามีปัญหากับสายตาและอาจทำให้เขาปวดศรีษะอย่างหนัก ซึ่งเกิดขึ้นได้ เมื่อเราจ้องจออยูนานๆ
     
       “เราจึงควรใช้แท็บเล็ตเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งเพื่อให้เขาใช้ค้นข้อมูล แต่สิ่งที่เหมาะสมกว่านั้นคือให้ความสำคัญกับการพูดคุย อาจให้เด็กฝึกค้นข้อมูลในแท็บเลต แต่เมื่อค้นแล้ว ต้องนำมาเล่าให้คุณครู เล่าให้เพื่อนๆ ฟัง เราก็เปรียบให้แท็บเล็ตเป็นห้องสมุด แต่ในการค้นคว้าที่แท้จริง หนังสือเล่มเดียวไม่พอ ต้องให้เด็กค้นความรู้จากแหล่งอื่นๆ ด้วย
     
       “ เช่นในโรงเรียนของผม ผมจะพาเด็กไปรับฟังความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเป็นความรู้ที่ไม่มีในแท็บเล็ตและไม่มีสิ่งใดที่จะมาแทนคุณครูได้ เพราะคุณครูนั้นจะต้องให้ความรัก ความเมตตาแก่ลูกศิษย์ตลอดเวลา ครูต้องเอาใจใส่ สร้างความรักความเมตตาให้เกิดขึ้นในตัวเด็ก เขาจึงจะเติบโตขึ้นเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้

       “แต่ถ้าเขาติดอยู่กับแท็บเล็ต ความรู้เขาก็จะมีอยู่แค่นั้น เหมือนกับแท็บเล็ตและตัวเขาเองก็จะกลายเป็นแท็บเล็ต

ข้อมูล..
ASTV ผู้จัดการออนไลน์