มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เตรียมจัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษา ให้เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจการเมืองการปกครอง ศิลปะและวัฒนธรรม พร้อม
ศาสตราจารย์ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้ สัมภาษณ์ว่า ในปี2558 ประชาคมอาเซียนจะยกเลิกพรมแดนของตัวเอง ส่งผลให้ระบบภาษีปรับเปลี่ยน เช่นเดียวกับระบบการศึกษา ซึ่งเชื่อว่าจะมีการแลกเปลี่ยนนักศึกษามากยิ่งขึ้น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงต้องปรับตัวให้มีความพร้อมเมื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนอยู่หลายเรื่อง
“ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนให้เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น เพื่อเตรียมการเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน อีกทั้งยังเตรียมจัดตั้งศูนย์อาเซียนศึกษาขึ้น ซึ่งศูนย์นี้จะทำหน้าที่เกี่ยวกับการรวบรวมแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับประเทศ สมาชิกอาเซียน ทั้งเรื่อง เศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง ศิลปะและวัฒนธรรม ผู้สนใจสามารถเข้ามาหาแหล่งข้อมูลได้ที่ศูนย์อาเซียนศึกษาได้ ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยกำลังเริ่มดำเนินการ ทั้งนี้เพื่อให้อาเซียนเป็นอาเซียนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะพยายามรับนักศึกษาอาเซียนด้วยการรับนักศึกษา ลาว เขมร เวียดนาม และพม่า เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพิ่มมากขึ้น และตรงกันข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็จะพยายามส่งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปเยี่ยมเยือนกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มมากขึ้น"
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะตอบสนองต่อมติที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ คือ การปรับเปลี่ยนเวลาการเรียน ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยจะเปิดเรียนช่วงเดือน มิถุนายน-ตุลาคม แต่ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่และในยุโรปจะเปิดเรียนในเดือนกันยายนในภาคเรียนแรก ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำลังศึกษาเรื่องนี้อยู่ และเชื่อว่าการปรับให้ตรงกัน ให้มีความคล้ายคลึงกันในระบบของอาเซียน คือสิ่งที่จำเป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะได้หาเหตุผลและจุดยืนของมหาวิทยาลัย โดยเบื้องต้นได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักทะเบียนและประมวลผล เป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ไปหารือกับที่ประชุมอธิการบดีทั่ว ประเทศ (ทปอ.) ต่อไป(ข่าวผู้จัดการออนไลน์)