เด็ก ม.3 ร.ร.ดัง ร้องเรียนจบ แต่ไม่สามารถเรียนต่อ ม.4 ร.ร.เดิมได้
“ชินภัทร” ยันเด็กไม่ขาดโอกาส พร้อมแจง ร.ร.ดังจะต้องมีการรองรับนักเรียน 2
แผน โดยรับเด็กที่จบ ร.ร.เดิมตามแผนการรับ ไม่เกินร้อยละ 80
และสอบแข่งขันทั่วไป ไม่เกินร้อยละ 20
ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)
กล่าวถึงกรณีนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนแห่งหนึ่ง
ซึ่งได้เกรดเฉลี่ย 3.70 แต่ไม่สามารถเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4
โรงเรียนเดิมได้นั้น ว่า ตนมองว่า
เรื่องนี้ความผิดพลาดไม่ได้เกิดขึ้นที่ตัวนักเรียน
แม้ว่าปีนี้จะเป็นปีแรกที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)
จะประกาศให้โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูง จำนวน 280 โรงเรียน
ใช้คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-Net ไม่เกินร้อยละ
20 เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อ แต่ก็เห็นว่า
ในช่วงระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านนี้
ควรจะหาวิธีการที่ยืดหยุ่นให้แก่เด็กที่อาจจะไม่รู้จริงๆ
ได้รับโอกาสทางการศึกษาเท่าเทียมกัน
ไม่จำเป็นจะต้องเอาเรื่องคะแนนโอเน็ตไปบังคับเด็ก
ด้าน นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
(เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ต้องเข้าใจว่า
โรงเรียนที่มีอัตราการแข่งขันสูงทั้ง 280 โรงนั้นมีที่นั่งเรียนจำกัด
และมีแผนการรับ ม.4 ในจำนวนจำกัด และทุกปีก็จะเกิดปัญหา ว่า นักเรียน
นักเรียนที่จบ ม.3 จากโรงเรียนเดิมมีจำนวนมากกว่าแผนจำนวนรับ ม.4 ดังนั้น
โรงเรียนที่เปิดทั้ง ม.ต้น และ ม.ปลาย
จึงต้องทำแผนการรับนักเรียนแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
รับนักเรียนเดิมไม่เกินร้อยละ 80
และเปิดโอกาสรับนักเรียนทั่วไปไม่เกินร้อยละ 20 อย่างไรก็ตาม
สพฐ.ได้กำหนดไว้ในแนวปฏิบัติการรับนักเรียนปีการศึกษา 2555 ชัดเจนว่า
หากเด็กจบ ม.3 เกินกว่าแผนการรับ ม.4 ก็ให้พิจารณาจากคะแนนเฉลี่ยสะสม หรือ
GPA โดยไล่ตามคะแนนตั้งแต่เกรดเฉลี่ย 4.00 จนให้ครบตามจำนวนที่กำหนดแผนรับ
เท่ากับว่า
นักเรียนจากโรงเรียนเดิมที่มีเกรดเฉลี่ยถึงก็จะสามารถเข้าเรียนต่อโรงเรียน
เดิมได้โดยอัตโนมัติ
ส่วนเด็กที่มีเกรดเฉลี่ยไม่ถึงก็สามารถมาสอบแข่งขันกับเด็กทั่วไปได้
อย่างไรก็ตาม กรณีที่ รมว.ศึกษาธิการ ระบุว่า
ในระยะแรกควรจะมีการยืดหยุ่น ตนเข้าใจว่า
น่าจะเป็นความยืดหยุ่นที่ในการปรับเปลี่ยนที่จะนำคะแนน O-Net
ไปใช้กับการรับนักเรียนก็ได้ ปีนี้ใช้คะแนนโอเน็ตร้อยละ 20
ปีหน้าอาจเพิ่มใช้คะแนน O-Net ถึงร้อยละ 50 ก็ได้ เป็นต้น ทั้งนี้
หลักเกณฑ์ไม่ได้ตายตัวเพียงแต่ต้องเป็นหลักเกณฑ์เดียวกับที่
คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีมติเห็นชอบ และ
สพฐ.ได้ประกาศการเป็นนโยบายการรับนักเรียนซึ่งจะครอบคลุมโรงเรียนทุกประเภท
นำไปใช้ปฏิบัติ
Credit Manager.co.th