คะแนนโอเน็ตเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน" โดยมี ผอ.โรงเรียนทั้งประถมศึกษา และมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) ผู้ปกครอง และนักเรียน กว่า 50 คนเข้าร่วมประชุม
นาย ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การใช้คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต เป็นส่วนหนึ่งในการจบการศึกษา ตามหลักสูตรในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในปีการศึกษา 2555 ถูกพิจารณาออกเป็น 2 แนวทาง แนวทางแรกคือการเพิ่มผลคะแนนโอเน็ตเป็นอีกหนึ่งเกณฑ์ของ สทศ.คืออยู่ในระดับพอใช้ขึ้นไป หรือ ร้อยละ 20 ขึ้นไป สำหรับการจบการศึกษา ส่วนแนวทางที่ 2 คือ ใช้ผลคะแนนโอเน็ตเป็นส่วนหนึ่งในการจบการศึกษาตามหลักสูตรในอัตราส่วน ระหว่างผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร หรือ GPA ต่อผลคะแนนโอเน็ต เช่น 80 ต่อ 20 หรือ 90 ต่อ 10
"ผลคะแนนโอเน็ตจะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดรรงบประมาณให้กับสำนักงานเขต พื้นที่การศึกษา ดังนั้นหากเขตพื้นที่ใดมีผลคะแนนโอเน็ตต่ำจะจัดอยู่ในบัญชีรายชื่อเฝ้าระวัง ต้องจัดกิจกรรมกระตุ้นการเรียนการสอนแบบเข้มข้น เพื่อเกิดการเชื่อมต่อห่วงโซ่คุณภาพทางการศึกษา ที่ส่งผลให้การปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จ" เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
นายชินภัทร กล่าวต่อว่า มุมมองจากนักวิชาการ และผู้ปกครองส่วนใหญ่เห็นว่าสมควรนำผลคะแนนโอเน็ตมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการจบ การศึกษา แต่ต้องมีแนวทางที่ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดผลด้านลบเมื่อมาใช้ เช่น เกิดกระแสการแห่ไปเรียนกวดวิชา ปฎิเสธเด็กที่เรียนไม่เก่ง หรือการเพิ่มความแตกต่างโรงเรียนในเมืองและชนบท เป็นต้น ทั้งนี้หากนำคะแนนโอเน็ตมาใช้อย่างเป็นทางการในปีการศึกษา 2555 นี้ถือว่าไม่เร็วเกินไป และสัดส่วนที่นำมาใช้เพียงร้อยละ 20 เท่านั้น แต่จะมีผลทางจิตวิทยามากกว่า เพราะจะทำให้เด็กมีความกระตือรือร้นในการสอบมากขึ้น ส่วนครูผู้สอนจะต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับจุดอ่อนของเด็กแต่ละคน อย่างไรก็ตามประเด็นการหารือในครั้งนี้จะนำเสนอต่อนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมว.ศึกษาธิการ ได้พิจารณานำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศเป็นกฎกระทรวง ที่กำหนดใช้อย่างครอบคลุมในสถานศึกษาทุกสังกัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมมีข้อเสนอแนะว่าการนำคะแนนโอเน็ตมาเป็นส่วนหนึ่งของการจบหลักสูตร ควรขยายให้ครอบคลุมวิชาอื่นๆ นอกเหนือจากวิชาหลัก 5 กลุ่มสาระ เช่น วิชาศิลปะ ดนตรี กีฬา เป็นต้น เพราะเด็กบางคนไม่ได้มีความสามารถในเชิงวิชาการทั้งหมด นอกจากนี้ยังเสนอว่าควรจะมีการสอบโอเน็ตในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ด้วย เพราะเด็กจะมีพื้นฐานทางวิชาการมากขึ้น
ที่มา : ข่าวสด