ผลสำรวจพบว่า เด็กไทยมีไอคิวต่ำ
ผลสำรวจเด็กไทย ทั่วประเทศ "ไอคิว" ต่ำ อธิบดีกรมสุขภาพจิตระบุเด็กจะมีไอคิวดีหรือไม่ มีปัจจัยเกี่ยวข้องมากมาย ทั้งอาหารเสริม-สารไอโอดีน และการเลี้ยงดูเหมาะสมในครอบครัวที่อบอุ่น
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงผลสำรวจสถานการณ์ระดับสติปัญญา (ไอคิว) เด็กนักเรียนไทยทั่วประเทศ ว่า จากการสำรวจนักเรียนอายุ 6-15 ปี ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ป.1-6 และ ม.1-3 ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สาธิตและราชภัฏ) และสังกัดกรุงเทพฯ ทั้ง 76 จังหวัด จำนวน 72,780 คน ซึ่งเป็นการสำรวจไอคิวครั้งใหญ่ที่สุดในโลกตามวิธีมาตรฐานสากล ในช่วงเดือนธ.ค.53-ม.ค. 54 พบว่าเด็กนักเรียนไทยมีไอคิวเฉลี่ยเท่ากับ 98.59 ถือว่าเป็นค่าระดับสติปัญญาที่อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ค่อนไปทางต่ำ โดยค่ากลางของมาตรฐานสากลในปัจจุบันไอคิวเท่ากับ 100
เมื่อดูลักษณะภาพรวมของประเทศพบว่า มีเด็กเกือบครึ่งหนึ่ง 48.5% มีปัญหาไอคิวอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่า 100 ทั้งนี้มีเด็กที่มีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ คือ ต่ำกว่า 90 ประมาณ 28.4% และมีนักเรียนที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาต่ำกว่า 70 ถึง 6.5% เมื่อเทียบกับมาตรฐานสากลไม่ควรเกิน 2% สรุปได้ว่าโดยภาพรวมไอคิวของเด็กนักเรียนไทยมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐานสากล และมีการกระจายตัวในลักษณะเด็กนักเรียนที่มีไอคิวต่ำกว่าค่าปกติมากกว่า มาตรฐานสากล และพบว่าเด็กที่มีไอคิวต่ำก็จะต่ำมาก ขณะเดียวกันเด็กนักเรียนที่มีไอคิวสูงก็จะมีแนวโน้มสูงมาก
ส่วนค่าเฉลี่ยระดับสติปัญญา เมื่อเทียบตามภาค เรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ กรุงเทพมหานครไอคิว เฉลี่ย 104.5 ภาคกลางไอคิวเฉลี่ย 101.29 ภาคเหนือไอคิวเฉลี่ย 100.11 ภาคใต้ไอคิวเฉลี่ย 96.85 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือไอคิว เฉลี่ย 95.99
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวด้วยว่าเมื่อพิจารณารายจังหวัด พบว่า จังหวัดที่มีไอคิวสูงกว่า 100 มีจำนวน 18 จังหวัด คือ นนทบุรีไอคิวเฉลี่ย 108.91 ระยอง 107.52 ลำปาง 106.62 กรุงเทพฯ 104.50 ชลบุรี 103.92 สมุทรสาคร 103.73 ตราด 103.51 ปทุมธานี 103.34 พะเยา 103.32 ประจวบคีรีขันธ์ 103.17 นครปฐม 103.09 ราชบุรี 102.72 สิงห์บุรี 102.67 ภูเก็ต 102.66 สมุทรสงคราม 102.48 นครสวรรค์ 102.29 แพร่ 101.83 เชียงใหม่ 101.35 สำหรับจ.นนทบุรีที่เด็กนักเรียนมีไอคิวเฉลี่ยสูงสุด น่าจะมาจากระบบการศึกษาในพื้นที่นนทบุรี ซึ่งมีการทุ่มเทเรื่องนี้มากและองค์ประกอบอื่น ๆ ด้วย
ส่วนจังหวัดที่มีไอคิวเฉลี่ยเท่ากับ 100 มี 20 จังหวัด คือ เพชรบุรี ตรัง สมุทรปราการ น่าน พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก พิจิตร ตาก แม่ฮ่องสอน ชุมพร จันทบุรี ลพบุรี บุรีรัมย์ สุโขทัย เชียงราย อุทัยธานี ลำพูน ชัยนาท ปราจีนบุรี และหนองคาย
สำหรับจังหวัดที่มีไอคิวเฉลี่ยต่ำกว่า 100 มีจำนวน 38 จังหวัด คือ อ่างทอง สุราษฎร์ธานี สงขลา สุพรรณบุรี นครนายก นครศรีธรรมราช พัทลุง เพชรบูรณ์ พังงา อุดรธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ กาญจนบุรี อุตรดิตถ์ เลย ยโสธร ฉะเชิงเทรา สระบุรี มุกดาหาร สตูล ระนอง ยะลา อำนาจเจริญ ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา นครพนม สระแก้ว มหาสารคาม กำแพงเพชร หนองบัวลำภู กระบี่ กาฬสินธุ์ สกลนคร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ปัตตานี และนราธิวาส โดยจ.นราธิวาสมีไอคิวเฉลี่ยต่ำสุดอยู่ 88.07% โดยส่วนหนึ่งอาจมาจากปัญหาการขาดไอโอดีน แม้จะมีพื้นที่ติดทะเลแต่อาจจะละเลยการรับประทานอาหารที่มีไอโอดีน นอกจากนี้พ่อแม่ของเด็กไปทำงานนอกพื้นที่ทำให้ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ลูก อย่างใกล้ชิด
"เด็กจะมีระดับสติปัญญาดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย ทั้งที่เป็นปัจจัยส่งเสริมและปัจจัยขัดขวางต่อการพัฒนาระดับสติปัญญา ซึ่ง 1 ในปัจจัยสำคัญนั้น คือ การได้รับอาหารเสริมตามวัย ได้รับสารไอโอดีนที่เหมาะสม ที่จำเป็นต่อการเจริญและพัฒนาการของสมอง ซึ่งผลการศึกษาในหลายประเทศ พบว่า ผู้ที่รับประทานเกลือไม่มีไอโอดีนและดื่มนมน้อยกว่า 1 ครั้งต่อวัน มีโอกาสที่ไอคิวจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ การเสริมไอโอดีนให้มารดาตั้งแต่ก่อนและขณะตั้งครรภ์ และเสริมไอโอดีนให้เด็กหลังคลอด เด็กจะมีโอกาสที่ระดับไอคิวจะมากกว่าเด็กที่ไม่ได้รับเสริมเลย รวมทั้งการเลี้ยงดูที่เหมาะสมจากครอบครัว เช่น ความอบอุ่นในครอบครัว" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว.